สีสันของรอมฎอน

รอมฎอน (رَمَضَان‎) คือเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับซึ่งเลื่อนเร็วขึ้นปีละ 11 วันเนื่องจากวันตามปีปฏิทินอาหรับมี 354 วันมิใช่ 365 วันเช่นปฏิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันอยู่ ความสำคัญของรอมฎอนในอิสลามคือเป็นเดือนถือศีลอดซึ่งเป็นหลักปฏิบัติหนึ่งในห้าของอิสลาม นอกจากนี้ยังเป็นเดือนแห่งการประทานพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเริ่มต้นกับท่านนบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมใน ค.ศ.610 ณ ถ้ำหิรออฺ (حِرَاء) บนภูเขาญะบัลอัลนูร (جَبَل ٱلنُّوْر) นอกเมืองมักกะฮฺ เวลานั้นท่านไปปฏิบัติธรรมตะฮันนุซ (التَحَنُّث) นานหนึ่งเดือน

#การถือศีลอด ภาษาอาหรับเรียกว่า “เศามฺ” (صَوْم) หรือ “ศิยาม” (صِيَام) หมายถึงการงดเว้นการกิน ดื่ม สูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์นับแต่ยามรุ่งอรุณแสงทองจับขอบฟ้าหรือฟะจัร (فجر) ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือชูรุฆ (شروق) กระทั่งถึงดวงอาทิตย์ตกหรืองูรุป (غروب) ตลอดเดือนรอมฎอน (رَمَضَان) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม อาหารก่อนมื้อเช้าเรียกว่า “ซะฮูร” (سحور‎) อาหารช่วงละศีลอดเรียกว่า “อิฟฏาร” (إفطار)

รอมฎอนนั้นเต็มไปด้วยสีสัน ในยุคสมัยของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺหรือออตโตมัน ช่วงอาหารซะฮูร ทหารจะเดินตีกลองเพื่อปลุกประชาชน ในโมรอคโค เจ้าหน้าที่ที่เรียกว่านะฟัร (نفار) แต่งชุดโบราณสวมรองเท้าแตะหนังเดินเป่าแตรปลุกประชาชน ประเพณีเช่นนี้พบได้ในซีเรีย ตูนีเซีย อัลจีเรีย ส่วนในอียิปต์มีประเพณีการประดับโคมไฟ ตะเกียงหรือ “ฟะนูซ” (فانوس) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของรอมฎอนไปแล้ว ประเพณีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ช่วงภายใต้การปกครองของสุลต่านราชวงศ์ฟาติมิด นอกจากนี้ยังมีการยิงปืนใหญ่บอกเวลาอิฟฏารฺเรียกว่า “มิดฟะอฺอัลอิฟฏาร” (مدفع الإفطار) ซึ่งเริ่มขึ้นในราชวงศ์แมมลุกในอียิปต์ช่วงศตวรรษที่ 15 ในปัจจุบันเรื่องการประดับตะเกียงยังมีอยู่ทั้งยังขยายออกไปจากอียิปต์ส่วนการยิงปืนใหญ่หายไปแล้ว

การมาถึงของเดือนรอมฎอนมีความหมายสำหรับมุสลิมอย่างผมเสมอ เมื่อมีประกาศการเห็นเดือนเพื่อเริ่มต้น รอมฎอน เด็กๆในชุมชนมัสยิดยะวาแถวถนนสาทรใต้จะไปรวมตัวกันที่มัสยิดตีกลองใหญ่กันครึ่งค่อนคืน อีกครั้งคือช่วงสิ้นสุดเดือนรอมฎอนเพื่อประกาศวันอิดิลฟิตริ (عيد الفطر‎) รอมฎอนจึงสนุกสนาน เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเป็นสุข ยามละศีลอดของทุกวันมีการเลี้ยงอาหารอิฟฏารซึ่งในอดีตไม่มีมากมายเช่นในปัจจุบันซึ่งมีในทุกมัสยิดทั่วประเทศไทย เพื่อนชาวมาเลเซียเคยบอกผมว่าที่มาเลเซียยังไม่ครึกครื้นเท่าที่เมืองไทย ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ แต่รอมฎอนสำหรับมุสลิมในประเทศไทยครึกครื้นเช่นนี้เสมอ เป็นมาตั้งแต่ยุคผมยังเป็นเด็ก

ยามค่ำคืนในรอมฎอนมีการละหมาดยาวนานร่วมกันเรียกว่า “#ตะรอเวียะอฺ” (تراويح‎) จบตะรอเวียะอฺหลังสามทุ่ม ชุมชนเต็มไปด้วยร้านอาหารที่คนในชุมชนแห่แหนมาซื้อหาอาหารรับประทานร่วมกัน เรื่องราวเช่นนี้จำเป็นต้องหยุดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอิฟฏารร่วมกันยามเย็น การรวมตัวละหมาดตะรอเวียะอฺที่มัสยิด บรรยากาศร้านอาหารคึกคักยามดึกช่วงรอมฎอน ทั้งหมดหายไปจากการระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นครั้งแรกที่พบเจอในชีวิต แม้ปีนี้ไม่มี ปีหน้าก็ยังรอได้ พวกเราคิดกันอย่างนั้น #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *