คุณสามารถ มะลูลีม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง เขียนเล่าความเป็นมาของมัสยิดอัลอะตี๊กให้พวกเราได้อ่านกันทางไลน์กลุ่มของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัสยิดนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์การค้าเอเชียติ๊ก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปลายถนนเจริญกรุงแถบถนนตกของกรุงเทพฯ แถบนี้เป็นเขตเมืองเก่า มีความเป็นมาไล่เรียงกลับไปได้ถึงรัชกาลที่ 1 หรืออาจเก่ากว่านั้น มัสยิดอัลอะตี๊กเป็นมัสยิดเก่าแก่ สร้างขึ้นโดยมุสลิมปัตตานีที่ถูกกองทัพสยามของกรุงเทพฯกวาดต้อนมาจากภาคใต้เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 แต่เดิมเรียกมัสยิดแห่งนี้ว่ามัสยิดสวนหลวง ทำไมจึงเรียกว่าสวนหลวง ชื่อนี้มีที่มา ลองติดตามดูกันชื่อสวนหลวงมีที่มาน่าสนใจ เหตุที่พื้นที่แถบถนนตกยุคเก่ารวมถึงบริเวณมัสยิดอัลอะติกมีชื่อว่า สวนหลวง เนื่องจากครั้งรัชกาลที่ 1 เมื่อย้ายราชธานีข้ามฝั่งจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ พื้นที่แถบตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยทุ่งนา มีบางส่วนเป็นพื้นที่สวน มุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากภาคใต้เข้ามาเป็นพลเมืองหรือกำลังของเมืองในกรุงเทพฯเข้าทำหน้าที่เป็นชาวนาบ้าง ชาวสวนบ้างอยู่ในหลายพื้นที่ มุสลิมที่ทำสวนในที่ดินของหลวงได้ผลผลิตแล้วหักรายได้ส่วนหนึ่งเข้าหลวง พื้นที่ส่วนนี้จึงเรียกว่าสวนหลวง ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯชื่อสวนหลวงแถบถนนตกมีที่มาในลักษณะนี้มีที่มาในลักษณะนี้ ในพื้นที่พระโขนงซึ่งมีมุสลิมจากหลายพื้นที่ทางภาคใต้เข้าไปทำสวนทำนาอยู่จำนวนไม่น้อย บางส่วนทำสวนอยู่ในพื้นที่พระโขนงจึงเป็นที่มาของสวนหลวงทางแถบนี้ภายหลังในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ไเกิดการสร้างสวนหลวง ร.9 ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชื่อสวนหลวงแถบพระโขนงจึงมีที่มาจากสองทาง ทั้งสวนหลวงเดิมและสวนหลวง ร.9 ต่อมาเมื่อมีการปักปันพื้นที่ใหม่จัดแบ่งแขวงและเขตกันใหม่ในระยะหลัง สวนหลวง ร.9 อันเป็นสวนสาธารณะกลับแยกออกจากเขตสวนหลวง ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของสวนหลวงแถบถนนตกซึ่งเป็นเขตชั้นในกับสวนหลวงในพื้นที่ด้านตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ด้านนอกอยู่ไกลออกไปทางพระโขนงซึ่งบ้านผมอยู่ในพื้นที่สวนหลวงเขตนี้เอง รอบบ้านที่สวนหลวงมีหลายคลองที่มุสลิมยุคเก่าเป็นผู้ขุดขึ้นยังมีสวนหลวงอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนหลวงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำสวนแบ่งเงินเข้าหลวงของชาวบ้านเช่นสองสวนหลวงที่กล่าวถึงข้างต้น แต่เกี่ยวเนื่องมาจาก “วังใหม่” ซึ่งเป็นวังของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ รัชทายาทในรัชกาลที่ 5 เดิมวังใหม่นี้เป็นวังที่สร้างเลียนแบบวังวินเซอร์ในอังกฤษ สวยงามตระการตาในยุคนั้น กระทั่ง พ.ศ.2475 จึงถูกคณะราษฎร์ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองสั่งรื้อแล้วสร้างสนามศุภชลาสัยแทน ด้านหลังวังใหม่ที่ว่านี้เป็นสวนดอกไม้ ทำเป็นสไตล์สวนอังกฤษ เรียกกันทั่วไปว่าสวนหลวง สวนแห่งนี้ถูกคณะราษฎร์สั่งรื้อเหมือนกัน ทั้งวังทั้งสวนจึงเหลือเพียงชื่อจารึกไว้ นั่นคือชื่อแขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ขณะที่จุฬาลงกรณ์ยังคงเก็บชื่อสวนหลวงไว้ กระทั่งกลายมาเป็น “สวนหลวงสแควร์” เช่นทุกวันนี้ หมายเหตุ ขอบคุณสยามพหุรงค์ เจ้าของภาพวังวินเซอร์หรือวังใหม่ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #สวนหลวง, #วังวินเซอร์, #วังใหม่