อันที่จริงพวกเรารู้จักกันมานาน ทว่าอาจไม่ทราบพื้นเพความเป็นมาของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) กันดีนัก วันนี้จึงขอแนะนำให้พวกเรารู้จัก ศวฮ.กันเพิ่มเติมอีกหน่อย ศวฮ.กำลังจะฉลองครบรอบ 21 ปีของการจัดตั้งในวันวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2567 หรือวันพรุ่งนี้ โดยจัดงานวิ่ง 5 และ 10 กิโลเมตรที่รู้จักกันในชื่อว่า “Halal Fun Run” มีคนร่วมงานประมาณ 500 คน สนุกสนานบันเทิงกันไปหมาด ๆ เมื่อวานนี้ 10 สิงหาคม พ.ศ.2567 ทว่ายังอยากแนะนำให้พวกเราได้รู้จักเพิ่มเติม จึงขออนุญาตให้ข้อมูลไว้ตรงนี้ ดังนี้
เรื่องราวของ ศวฮ.เริ่มต้นย้อนหลังไปได้ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2537 ช่วงนั้นมีประเด็นข่าวการปนเปื้อนสิ่งหะรอมหรือสิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลกันบ่อย มุสลิมกลุ่มหนึ่งประกอบไปด้วยผมและเพื่อนจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) รวมกลุ่มกันข้ามไปดูงานสมาคมผู้บริโภคปีนังหรือ CAP หลังจากนั้นผมกลับมาร่วมกับเพื่อนคณาจารย์ 6 คณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ ดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมโดยใช้งานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นตัวขับเคลื่อน
พ.ศ.2544 เกิดประเด็นการปนเปื้อนหะรอมชนิดซับซ้อนขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยเวลานั้นอยู่ในขั้นตอนการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลสู่ประเทศมุสลิมใช้จังหวะนำเสนอการใช้งานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่งานฮาลาลประเทศไทยนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนแยกตัวเป็น ศวฮ.ในเวลาต่อมา
ศวฮ.เติบโตขึ้นเป็นลำดับเริ่มจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลพื้นที่ขนาด 32 ตารางเมตรในคณะสหเวชศาสตร์ ขยายเป็นห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล หรือ HAFOLAB และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Business Incubator of Halal Products หรือ BIHAP) พื้นที่รวม 3,000 ตารางเมตรในอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจัดตั้งสำนักงานสาขาเพิ่มเติมอีก 3 แห่งคือ 1) สำนักงานปัตตานีจัดตั้งเป็นศูนย์เฝ้าระวังด้านอาหารและโภชนาการฮาลาล (Halal Food and Nutrition Awareness หรือ HAFANA) ใน พ.ศ.2552, 2) สำนักงานเชียงใหม่จัดตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลฮาลาลขนาดใหญ่ (Halal Big Data House หรือ HABIDAH) ใน พ.ศ.2555, 3) สำนักงานนครนายกจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชุมด้านนวัตกรรมฮาลาล (Halal Innovation Community Learning Center หรือ HICOLEC) ใน พ.ศ.2565
ปัจจุบัน ศวฮ.มีบุคลากรรวม 50 คนเป็นนักวิทยาศาสตร์มุสลิม 30 คนโดยเป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอก 8 คน ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติมากมาย
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศวฮ, #hafolab, #ศวฮปน, #HSCCM, #hscny, #HSCPN, #HSC