ศิลปะอิสลามร่วมสมัย (Contemporary Islamic arts)

ศิลปะอิสลาม (Islamic art) หมายถึงศิลปะแขนงต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่ภาพเขียน ภาพแกะสลัก สถาปัตยกรรม และอีกสารพัดที่พัฒนาขึ้นในยุคทองของโลกอิสลามช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-14 เน้นที่อักษรและลวดลายเลขาคณิต มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ความเชื่อมั่นศรัทธาในอัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา (ศุบฯ) โดยเป็นไปตามวจนะหรือหะดิษของท่านนบีมุฮัมมัด ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ศอลฯ) ที่กล่าวว่า “อัลลอฮฺนั้นทรงงดงามและทรงรักความสวยงาม” หะดิษนี้เองก่อกำเนิดเป็นศิลปะอิสลามที่รุ่งเรืองยาวนานกว่า 800 ปีกระทั่งสูญหายไปและค่อย ๆ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่งในยุคหลัง

ศิลปะอิสลามมีลักษณะเฉพาะหลายประการที่ผู้รู้ด้านศิลปะรวบรวมไว้ ได้แก่ (1) ห้ามสร้างรูปปั้นหรือภาพเหมือนของสิ่งมีชีวิตใด ๆ (Aniconism) โดยถือเป็น “ชิริก” ที่นำสิ่งอื่นมาเทียบเคียงพระเจ้า อิสลามนั้นยกพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด การบูชารูปเคารพนับเป็นความผิดมหันต์ที่ไม่อาจอภัยได้ รูปปั้น ภาพสิ่งมีชีวิตจึงไม่มีการนำมาจัดแสดงในงานศิลปะ (2) การประดิษฐ์อักษร (Calligraphy) เป็นรูปแบบศิลปะหลักที่เน้นการใช้อักษรประดิษฐ์ในการตกแต่งทั้งใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับแนวคิดในการถ่ายทอดพระวจนะของพระเจ้า

(3) เรขาคณิตและลวดลาย (Geometry and patterns) นิยมทำลวดลายทางเรขาคณิตที่ซับซ้อนโดยทำซ้ำบนพื้นผิว เช่น ศิลปะอิสลามบนเครื่องกระเบื้องเซรามิกและเครื่องแก้ว รูปทรงพื้นฐานที่ใช้สร้างลวดลายเหล่านี้ ได้แก่ วงกลม สี่เหลี่ยม ดาว และรูปหลายเหลี่ยมหลายด้าน ความสมมาตรเกิดขึ้นจากการทำซ้ำโดยสะท้อนผ่านรูปทรงเหล่านี้ (4) ภาพใบไม้หรือภาพพืช เถาวัลย์ และพืชอื่นๆ เพื่อใช้ในการประดับตกแต่ง การผสมผสานกับแนวทางเรขาคณิตสื่อถึงธรรมชาติของพระเจ้าที่สูงสุดโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ มีความยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด ศิลปะอิสลามจึงเน้นไปที่การรำลึกถึงพระเจ้า (Remembrance of God) เป็นสำคัญ

ภาพที่แสดงออกมาเพื่อประกอบเรื่องราวนี้ดูคล้ายไม่ใช่ศิลปะอิสลาม ทว่านั่นคือศิลปะอิสลามร่วมสมัย (Contemporary Islamic arts) นำเสนอลักษณะเฉพาะของศิลปะอิสลามตามที่ระบุไว้ข้างต้นทุกประการ เป็นศิลปะอิสลามร่วมสมัยที่กำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผลงานที่นำเสนอนี้เป็นของศิลปินสาวลูกครึ่งปาเลสไตน์-ซาอุดีอารเบีย ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ชื่อดาน่า อะวารตานี (Dana Awartani) แสดงผลงานอยู่ที่หอศิลป์ในซาอุดีอาระเบีย มองภาพศิลปะอิสลามร่วมสมัยแล้วลองตีความหมายให้ออก

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศิลปะอิสลามร่วมสมัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *