ศักยภาพของ “ดิน” เชิงวิทยาศาสตร์เพื่อการทำความสะอาดสิ่งสกปรกเชิงศาสนา

ถึงวันนี้ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า “ดิน” คือสิ่งสกปรก วงการแพทย์บางส่วนเชื่อด้วยซ้ำว่าดินคือต้นตอของปัญหาดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นผลให้ต้องพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ไม่จบไม่สิ้น รายงานวิจัยทางการแพทย์บางชิ้นระบุว่ายีน (gene) ต้านยาปฏิชีวนะมาจากแบคทีเรียที่พบในดินซึ่งนั่นคือต้นตอของปัญหา อย่างไรก็ตาม อิสลามกลับมองดินด้วยสายตาที่เป็นคุณมากกว่า อิสลามระบุว่ามนุษย์คนแรกในโลกสร้างขึ้นจากดิน ทั้งอิสลามยังอนุญาตให้ใช้ดินแทนน้ำได้ในกรณีทำความสะอาดร่างกายก่อนการละหมาดที่เรียกกันว่า “ตะยัมมุม” (تيمم‎ Tayammum) ทางด้านการขจัดนญิสหรือสิ่งสกปรก ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำให้ใช้น้ำผสมดินทำความสะอาดภาชนะในกรณีที่ถูกสุนัขเลีย รู้กันมานานก่อนหน้านั้นว่าน้ำลายสุนัขบางตัวก่อโรคที่มนุษย์กลัวนักกลัวหนาอย่างโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) โดยดินใช้ขจัดหรือฆ่าเชื้อที่ว่านั้นได้ ในความเห็นของอิสลาม ดินจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกในทุกกรณีอย่างที่เคยกังวลกัน

เมื่อ ค.ศ.2010 ในการประชุมประจำปีของ The Council for the Advancement of Science Writing สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ ดร.โจ ฮานเดลสแมน (Jo Handelsman) นักจุลชีววิทยาระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ใช้งานวิจัยในการยืนยันว่าดินนอกจากไม่ใช่ตัวปัญหาภาวะดื้อยาปฏิชีวนะอย่างที่แพทย์บางกลุ่มเข้าใจกันแล้ว ดินกลับเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่ว่านั้น ทีมวิจัยของเธอศึกษาดินจากหลายพื้นที่ทั่วโลกโดยไม่พบว่าในดินมีแบคทีเรียชนิดใดที่ก่อปัญหาดื้อยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในมนุษย์ แบคทีเรียที่สร้างปัญหาดื้อยาปฏิชีวนะที่พบนั้นล้วนไม่ใช่กลุ่มแบคทีเรียที่มาจากดิน ทว่ากลับเป็นดินต่างหากที่เป็นแหล่งของจุลชีพที่สร้างยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ที่ใช้ในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ

ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในหะดิษศอเฮียะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่าดินมีศักยภาพทางด้านการทำความสะอาด ด้วยเหตุนี้ผมร่วมกับทีมงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพัฒนานวัตกรรมจากดินเพื่อใช้ในการทำความสะอาดทางอุตสาหกรรมอาหาร โดยเดือนมกราคม ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) ศูนย์ฯตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “Development of clay liquid detergent for Islamic cleansing and the stability study” ในวารสาร International Journal of Cosmetic Science อันที่จริง แนวคิดการใช้ดินเริ่มมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2540 จากนั้นใน พ.ศ.2545 จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ชำระล้างทำความสะอาดที่มีดินเป็นองค์ประกอบ

ความสำเร็จค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นกระทั่งพัฒนาดินแขวนลอยได้ใน พ.ศ.2546 ก่อนที่จะดำเนินการตามคำแนะนำของอาจารย์ทองคำ มะหะหมัด นักวิชาการศาสนาอิสลามใน พ.ศ.2548 ที่ว่าจะต้องไม่มีการใช้ปฏิกิริยาเคมีรวมถึงห้ามการใช้สบู่ผสมดินที่นิยมปฏิบัติกัน ท้ายที่สุด ทางศูนย์ฯ พัฒนาน้ำยาดินแขวนลอยขึ้นได้สำเร็จ มีการใช้ดินร่วมกับสารประกอบจากดินอีก 7 ชนิดเป็นส่วนผสมโดยไม่ก่อปฏิกิริยาเคมี ใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกได้ไม่ต่างจากสบู่ทั้งฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าการใช้สบู่ทั่วไป งานนวัตกรรมดินแขวนลอยชิ้นนี้ยืนยันอีกครั้งถึงหะดิษของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่าดินใช้กำจัดนญิสชนิดที่สกปรกที่สุดในทางศาสนาอิสลามได้โดยไม่มีข้อสงสัย

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #น้ำยาดินแขวนลอย, #นญิส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *