วีแกนกับคีโต อย่างไหนให้คาร์บอนเครดิตมากกว่า

ในโลกตะวันตกวันนี้ อาหารวีแกนและอาหารคีโตได้รับความนิยมสูง อาหารวีแกน (Vegan) คือมังสวิรัติสมบูรณ์ งดเนื้อ นม ไข่ น้ำผึ้ง รวมถึงสิ่งที่มีขั้นตอนการผลิตจากสัตว์ งดสิ่งที่ใช้การทดลองกับสัตว์ ขณะที่อาหารมังสวิรัติแบบตะวันตก หรือ vegetarian เน้นพืชผัก แม้งดเนื้อสัตว์ทว่ายังอนุญาตนม ไข่ น้ำผึ้ง กลุ่มนี้แยกเป็นแบบกินไข่ (ovo-vegetarian) กินนม (lacto-vegetarian) หรือทั้งไข่ทั้งนม (lacto-ovo vegetarian) ส่วนอาหารคีโต (keto diet) ไม่ใช่มังสวิรัติ ลดแป้งและน้ำตาล เน้นไขมันกับโปรตีน อาหารอย่างไหนให้คาร์บอนเครดิตสูงกว่ากัน อยากรู้จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิตกันก่อน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านกล่าวว่าต่อไปในอนาคต การบริหารจัดการประเทศต้องคำนึงด้วยว่าในแต่ละปีประเทศไทยทำได้หรือทำเสียคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ เรื่องนี้จึงซีเรียสคาร์บอนเครดิต (carbon credit) หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์เครดิต (carbon footprint credit) คือข้อตกลงระดับนานาชาติว่ากันด้วยสิทธิของแต่ละประเทศที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศ โดยพิจารณาคาร์บอนไดออกไซด์แต่ละตันที่ถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศ คาร์บอนเครดิตสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้โดยบุคคลทั่วไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมหรือจากยานพาหนะในการขนส่ง หรือการเดินทาง การศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติใน ค.ศ.2021 พบว่า 34% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกมาจากการผลิตอาหาร โดยการผลิตเนื้อวัวมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนมากกว่าการผลิตไก่ 8-10 เท่า มากกว่าการผลิตถั่วและพืชตระกูลถั่วถึง 20 เท่า อยากได้คาร์บอนเครดิตหรือคาร์บอนฟุตพรินต์เครดิตสูงๆจึงต้องรณรงค์การบริโภคมังสวิรัติลดการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อวัว เนื้อหมู การศึกษาใหม่จาก Tulane university รัฐหลุยเซียนา ใช้ข้อมูลจากอาหารกว่า 16,000 รายการ ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2023 ให้ข้อสรุปว่าอาหารคีโตที่เน้นไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเกือบ 3 กิโลกรัมต่อทุก 1,000 กิโลแคลอรี่ที่บริโภค อาหารพาเลโอ (Paleo diet) งดธัญพืชและถั่ว เน้นเนื้อสัตว์ ผัก มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.6 กก. ต่อ 1,000 กิโลแคลอรี ขณะที่อาหารวีแกนสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศน้อยที่สุด โดยสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.7 กิโลกรัมต่อการบริโภค 1,000 กิโลแคลอรี่ รองจากวีแกนคือมังสวิรัติและเพสคาทาเรียน (pescatarian) ซึ่งเป็นมังสวิรัติที่อนุญาตให้บริโภคปลา #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารมังสวิรัติ, #คาร์บอนเครดิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *