วาทกรรมอาหารฮาลาลว่าด้วยเศรษฐกิจอาหารฮาลาลโลก ตอนที่ 6

วิทยาศาสตร์ฮาลาล (Halal Science) หมายถึงการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการฮาลาล มีตั้งแต่การจัดทำมาตรฐาน การคัดเลือกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ การตรวจวิเคราะห์สิ่งหะรอมทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ งานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ครอบคลุมไปถึงงานพัฒนาและงานวิจัย วิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงครอบคลุมงานค่อนข้างกว้าง

การตัดสินว่าผลิตภัณฑ์และบริการนั้นฮาลาลหรือไม่จัดเป็นงานของฝ่ายศาสนาอิสลาม จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อัลกุรอาน อัลนะหฺลฺ 16:116 บัญญัติว่า “และพวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติ (ฮาลาล) และนี่เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับความสำเร็จ” อีกบทหนึ่งคือ ยูนุส 10:59 บัญญัติว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) พวกท่านเห็นแล้วมิใช่หรือ ซึ่งเครื่องยังชีพที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่พวกท่าน แล้วพวกท่านก็ทำให้บางส่วนเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) และบางส่วนเป็นที่อนุมัติ (หะลาล) จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) อัลลอฮฺทรงอนุมัติให้แก่พวกท่านหรือพวกท่านปั้นแต่งให้แก่อัลลอฮฺ” การตัดสินว่าสิ่งใดฮาลาลหรือหะรอมจึงนับเป็นเรื่องสำคัญในอิสลาม

เมื่องานยากนัก อิสลามจึงชี้ทางออกให้ อัลอัมบิยาอฺ 21:7 “และเรามิได้ส่งผู้ใดก่อนหน้าเจ้า นอกจากมนุษย์ซึ่งเราวะฮียฺแก่พวกเขา ดังนั้น พวกเจ้าจงถามบรรดาผู้รู้เถิด หากพวกเจ้าไม่รู้” อัลกุรอานใช้คำว่า “อัซซิกริ” สำหรับผู้รู้ นักวิชาการบางท่านระบุว่าหมายถึงรู้ด้านศาสนาและสาขาที่เกี่ยวข้อง อัลกะฮฺฟฺ 18:60 กล่าวว่า “และจงรำลึกเมื่อมูซาได้กล่าวแก่คนใช้หนุ่มของเขาว่า ฉันจะยังคงเดินต่อไปจนกว่าจะบรรลุสู่ชุมทางแห่งสองทะเลหรือฉันจะคงเดินต่อไปอีกหลายปี” ขุมทางแห่งสองทะเลอาจเป็นคำตอบของผู้รู้นั่นคือรู้ในสองสาขาที่แตกต่างกัน กรณีการตรวจพิสูจน์ว่าฮาลาลหรือหะรอมจึงอาจหมายถึงความรู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล

ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2538 ผมจัดตั้งหน่วยวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิเคราะห์สิ่งหะรอมที่ปนเปื้อนในอาหารที่ผู้บริโภคมุสลิมเข้าใจว่าฮาลาลสำหรับตน เริ่มจากงานวิเคราะห์ชนิดของน้ำมันที่ทาบนก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Gas Liquid Chromatography พบว่าเป็นน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่น้ำมันหมู จากนั้นใช้เทคนิคเดียวกันทำการตรวจการปนเปื้อนน้ำมันหมูในน้ำมันปาล์มที่บรรจุขวด เมื่อมีข่าวออกมาทางสื่อมวลชนว่ามีผู้ประกอบการบางรายผสมน้ำมันหมูลงในน้ำมันปาล์มเพื่อลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้นมากในเวลานี้ สรุปคือไม่พบการปลอมปนดังกล่าว งานที่เผยแพร่ออกมาทางสื่อช่วง พ.ศ.2538-39 ได้กระตุ้นความสนใจของท่านจุฬาราชมนตรี อาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด ท่านขอพบผมอันนำไปสู่การนำวิทยาศาสตร์ฮาลาลไปใช้ในงานการรับรองฮาลาลหลังจากวันนั้น

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วาทกรรมอาหารฮาลาล, #จุฬาราชมนตรีประเสริฐมะหะหมัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *