นับกันตามปฏิทินอิสลาม ปีฮิจเราะฮฺมีจำนวนวันน้อยกว่าปีเกรกอเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ 11 วันหนึ่งปีมี 254 วัน อย่างเช่นปีที่ผ่านมาวันอัลฮิจเราะฮฺตรงกับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2561 วันปีใหม่อิสลามมีเรื่องราวความเป็นมาในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยยุคก่อนการมาของอิสลามซึ่งเริ่มใน ค.ศ.610 ชนอาหรับหลายชนเผ่าไม่ต่างจากหลายชนชาตินั่นคือแม้นับวันกันตามจันทรคติกำหนดการเห็นเดือนเป็นเกณฑ์แต่ทุกสามปีต้องมีการเพิ่มเดือนหนึ่งเดือนเข้าไปในปีนั้นเพื่อปรับปฏิทินจันทรคติให้สอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติสร้างความสะดวกแก่เกษตรกรในการเพาะปลูก ปัญหาคือการเพิ่มเดือนเกิดขึ้นตามความเห็นของผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำชนเผ่าบะนูกินานะฮฺที่นิยมเลื่อนเดือนต้องห้ามการทำสงครามที่เคยต่อเนื่องกันสามเดือนให้ขาดออกจากกัน ประเพณีเพิ่มเดือนที่ว่านี้เรียกกันว่า “อัลนะซีอฺ” (النسيء Al Nasii)
ปีที่ 10 ของฮิจเราะฮฺหรือการอพยพตรงกับ ค.ศ.632 อิสลามห้ามอัลนะซีอฺปรากฏในอัลกุรอานบทที่ 9 อัตเตาบะฮฺ 9:36-37 ด้วยเหตุผลว่าเดือนต้องห้ามในอิสลามมี 4 เดือนโดยมีสามเดือนต่อเนื่องกัน ผู้นำที่กำหนดอัลนะซีอฺนิยมทำให้สามเดือนที่ต่อเนื่องกันนั้นขาดออกจากกันจึงให้ยกเลิกอัลนะซีอฺ เรื่องนี้มีปรากฏในการบรรยายธรรมฮัจญฺครั้งสุดท้ายของท่านรอซูลุลเลาะฮฺ (ซ.ล.) ด้วย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงปฏิทินฮิจเราะฮฺครั้งที่ 1 ซึ่งยังมีอีกหนึ่งครั้งเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงของปฏิทินอิสลาม
ในยุคของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) อิสลามไม่เคยกำหนดศักราชของตน โดยในเวลานั้นตั้งชื่อปีกันตามประเพณีนิยม กระทั่งในปีฮิจเราะฮฺที่ 17 ตรงกับ ค.ศ.638 คอลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ คอฏฏอบ (ร.ฎ.) ทำข้อตกลงกับบรรดาผู้ปกครองและนักวิชาการศาสนาอิสลามเมืองต่างๆในอาณาจักรอิสลามเวลานั้นเกิดการกำหนดศักราชอิสลามขึ้นเป็นครั้งแรกโดยให้นับย้อนหลังกลับไปที่การอพยพของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จากมักกะฮฺไปยังมะดีนะฮฺกำหนดให้เดือนมุฮัรรอมของปีอพยพเป็นเดือนที่ 1 ปีที่ 1 ของศักราชอิสลาม การคำนวณศักราชฮิจเราะฮฺที่ 1 จึงเริ่มหลังเหตุการณ์จริง 17 ปีความสับสนระยะแรกอาจมีบ้างแต่หลังจากนั้น การนับจำนวนวันเป็นไปอย่างถูกต้องมาโดยตลอด วันนี้จึงเป็นวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ฮ.ศ.1441 กำหนดกันตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี