ชาวจีน อาหรับ เปอร์เซีย ยุโรปหรือแม้แต่ชนอัฟริกามีวัฒนธรรมหนึ่งที่น่ายกย่องคือการบันทึกในรูปหนังสือหรือโดยการจดจำและนำมาถ่ายทอด น่าเสียดายที่คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดวัฒนธรรมที่ว่านี้ จึงมักเป็นปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์ กรณีคนไทยดังเช่นเรื่องราวที่ว่าคนไทยมาจากไหน ป่านนี้ยังถกเถียงกันไม่จบเป็นเพราะขาดการบันทึก ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูบันทึกของจีนบ้างหรืออาหรับและเปอร์เซียบ้างเรื่องราวการเข้ามาของอิสลามในหมู่เกาะอินโดนีเซียก็เช่นกันขาดการบันทึก ต้องย้อนกลับไปดูบันทึกของชาวอาหรับพบว่าเริ่มต้นโดยเมาลานา มาลิก อิบราฮิม ชาวเปอร์เซียจากเมืองสะมะคาน ในเอเชียกลางที่เข้าไปตั้งรกรากในเอเชียใต้ก่อนออกเผยแผ่อิสลามที่อาณาจักรจามปา (เวียตนาม) ภายหลังใน ค.ศ.1419 เดินทางเข้ามาพร้อมบุตรชายคือสุนันอัมเปลเพื่อค้าขายที่อาเจะหฺทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราพร้อมนำเอาอิสลามแบบซูฟีเข้ามาเผยแผ่ อีกบันทึกหนึ่งคือการปรากฏตัวของนายพลเรือจีนมุสลิมชื่อ “เจิ้งเหอ” ที่เดินทางมาพร้อมกองเรือขนาดใหญ่ ระหว่าง ค.ศ.1405-1407 จึงเชื่อกันว่าอิสลามที่แพร่กระจายในหมู่เกาะอินโดนีเซียรวมถึงมลายูไปจนถึงพื้นที่ภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์มาจากพ่อค้าเปอร์เซียอาหรับสายหนึ่งและจีนอีกสายหนึ่ง ทางด้านเปอร์เซียอาหรับมีหลักฐานชัดแต่ทางจีนมีหลักฐานไม่มากเท่าไหร่ การเข้ามาของอิสลามในเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่มีมุสลิมหนาแน่นที่สุดในโลก ส่วนที่น่าสนใจคือเรื่องราวของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “ปราชญ์ทั้งเก้า” เรียกกันในภาษาอินโดนีเซียว่า “วะลีซองงอ” (Wali songo) คนเหล่านี้มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นคนชวาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตลอดชายฝั่งทะเลด้านเหนือของเกาะ คนแรกคือเมาลานา มาลิก อิบราฮิม (Sunan Gresik) จากเอเชียกลางที่ไปอาศัยในเอเชียใต้และจามปา คนที่สองคือระเด่นเราะหมัดหรือ “สุนันอัมเปล” (Sunan Ampel ค.ศ.1401–1481) บุตรชายของเมาลานา มาลิก อิบราฮิม ท่านถือกำเนิดในเวียตนามมีมารดาเชื้อสายจีน ท่านเป็นหนึ่งในครูคนสำคัญของวะลีซองงอคนอื่นๆที่ส่วนใหญ่เป็นชาวชวา ภายหลังต่างคนต่างเผยแผ่อิสลามกระทั่งเปลี่ยนชาวเกาะชวาจากฮินดูและพุทธเป็นมุสลิมจนแทบหมดความที่วะลีซองงอส่วนใหญ่มีกำเนิดในยุคต้นของอิสลามในอินโดนีเซียราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เรื่องราวของวะลีซองงอจึงมักเป็นตำนานมากกว่าการบันทึกในเอกสาร ตำนานความสำเร็จในการเผยแผ่อิสลามของวะลีซองงอที่น่าสนใจมีอยู่หลายเรื่อง ตัวอย่างหนึ่งคือการปรับวิถีอิสลามให้เข้ากับชนพื้นเมือง วะลีซองงอท่านหนึ่งเผยแผ่อิสลามในหมู่บ้านฮินดู ท่านห้ามมุสลิมใหม่บริโภคเนื้อวัวซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ทั้งห้ามฆ่าและทำร้ายวัว การผสมกลมกลืนวัฒนธรรมด้วยการยกย่องให้เกียรติวัฒนธรรมอื่นอย่างชาญฉลาดเช่นนี้ท้ายที่สุดทำให้หมู่บ้านนั้นและชุมชนโดยรอบเปลี่ยนมารับอิสลามกันทั้งหมด #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วะลีซองงอ, #ผู้เปลี่ยนอินโดนีเซียสู่โลกอิสลาม