นักโภชนาการเคยเชื่อกันว่าแคลอรีก็คือแคลอรี จะเป็นสารพลังงานตัวไหนย่อมให้ผลไม่ต่างกัน เอาเข้าจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น โครงสร้างโมเลกุลของสารพลังงานมีผลต่อเมแทบอลิซึมของการนำสารพลังงานไปใช้ ตัวอย่างเช่นกรดอะมิโนสองตัวคือ “ลิวซีน” (Leucine, Leu) และ “ไอโซลิวซีน” (Isoleucine, Ile) ทั้งสองตัวเป็นกรดอะมิโนแบบกิ่ง (Branched-chain amino acids) ทั้งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นเช่นเดียวกัน แตกต่างกันตรงตำแหน่งของกลุ่มเมทิลกลุ่มเดียว ซึ่งส่งผลต่อการคงอยู่ในโครงสร้างเกลียวอัลฟ่าเฮลิก (alpha-helices) ของสายโปรตีน โดยพบว่าการแตกกิ่งที่ตำแหน่ง beta ของไอโซลิวซีนส่งผลให้เกลียวเกิดความไม่เสถียร ทำให้เมแทบอลิซึมแตกต่างกันเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2023 มีรายงานการวิจัยจากหนูทดลอง ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism แสดงให้เห็นว่าการลดปริมาณกรดอะมิโนไอโซลิวซีนเพียงตัวเดียว ช่วยยืดอายุขัยของหนูทดลอง โดยหนูผอมลง อ่อนแอน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ทั้งลดปัญหาจากมะเร็งและต่อมลูกหมาก พบด้วยว่าหนูกลุ่มนี้กินแคลอรีมากขึ้นทว่าไม่อ้วน งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า ชาวอเมริกันจากรัฐวิสคอนซินคนที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่าหรืออ้วนกว่า มีแนวโน้มที่จะบริโภคไอโซลิวซีนมากกว่าชาววิสคอนซินที่บริโภคกรดอะมิโนไอโซลิวซีนน้อยกว่า โดยไอโซลิวซีนพบในอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ปลา เป็ดไก่ ไข่ เนยแข็ง ถั่วเลนทิล นัท สีด ขณะที่ลิวซีนพบมากในถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดเปียก ถั่วเมล็ดแห้ง ผลการวิจัยครั้งนั้นส่งผลให้นักวิจัยสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการบริโภคกรดอะมิโนแค่ตัวเดียว ทีมวิจัยทำการศึกษาในหนูทดลอง โดยเตรียมอาหารพิเศษที่ตัดกรดอะมิโนไอโซลิวซีนออกจากอาหารในปริมาณสองในสาม แบ่งหนูทดลองเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกกินอาหารปกติ อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีไอโซลิวซีนต่ำ ผลของการศึกษาพบว่าหนูที่กินอาหารที่มีไอโซลิวซีนต่ำ ความอ้วนลดลง ร่างกายสูญเสียไขมันและผอมลง ทั้งมีอายุยืนยาวขึ้น 33% สำหรับตัวผู้ และ 7% สำหรับตัวเมีย ทั้งสองเพศมีรูปร่างที่ดีขึ้นมากในช่วงอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยตัวผู้ที่กินไอโซลิวซีนต่ำมีโอกาสเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งน้อยกว่า ทั้งพบอีกว่าหนูที่กินอาหารไอโซลิวซีนต่ำกินอาหารที่มีแคลอรี่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าเดิม การบริโภคไอโซลิวซีนต่ำส่งผลดีขนาดนี้ได้อย่างไร ทางทีมวิจัยยังเข้าใจได้ไม่ดีนัก จำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม หากจะให้แนะนำกันเร็วๆในเวลานี้ ใครอยากลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนหรืออยากยืดอายุขัยอาจทำได้โดยลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ เพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดเปียก ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อทดแทน วิธีนี้อาจช่วยลดไอโซลิวซีนลงโดยเพิ่มลิวซีนมากขึ้น แนะนำได้ง่ายๆอย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ไอโซลิวซีน, #ลิวซีน