ลดความอ้วนด้วยการเปลี่ยนเซลล์ไขมันสีขาวเป็นสีเบจ

เซลล์ไขมันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์มีสามเฉดสี คือ ขาว (white) น้ำตาล (brown) และเบจ (beige) โดยเซลล์ไขมันสีขาวทำหน้าที่สะสมไตรกลีเซอไรด์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกายทว่าปัญหาคือไม่เคยนำมาใช้จึงเกิดโรคอ้วน เซลล์ไขมันสีน้ำตาลทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานเพื่อปล่อยความร้อนช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายเอาไว้ ส่วนสีเบจคือเซลล์ไขมันโทนน้ำตาลอ่อนค่อนไปทางน้ำตาลสว่างอมเหลือง ทำหน้าที่ผสมผสานสองคุณสมบัติข้างต้นเข้าด้วยกัน ทั้งเผาผลาญพลังงานและเก็บไขมันเป็นแหล่งสำรองพลังงาน เซลล์ไขมันสีเบจไม่เหมือนกับเซลล์ไขมันสีน้ำตาลที่เติบโตเป็นกระจุก โดยเซลล์ไขมันสีเบจจะฝังตัวแทรกอยู่ในเซลล์ไขมันสีขาว

มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ช่วงที่เกิดมามีเซลล์ไขมันสีน้ำตาลทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นวัยทารกช่วงขวบปีแรก ไขมันสีน้ำตาลทะยอยหายไปโดยเซลล์ไขมันสีเบจยังคงอยู่ ในหนูต่างจากมนุษย์ตรงที่เซลล์ไขมันสีน้ำตาลยังคงอยู่ไปตลอดอายุขัยของมัน หนูจึงสร้างพลังงานสร้างความร้อนได้ตลอดชีวิต นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ว่าหากต้องการเปลี่ยนเซลล์สีขาวให้เป็นเซลล์สีน้ำตาลหรือสีเบจต้องทำอย่างไร หากล่วงรู้ความลับด้านนี้ได้ มนุษย์ย่อมสามารถลดปัญหาโรคอ้วนได้ เข้าใจกันอย่างนั้น

ศาสตราจารย์ไบรอัน เฟลด์แมน (Brian Feldman) แห่งมหาวิทยาลัย UCSF สหรัฐอเมริกาทำการศึกษาเรื่องราวของเซลล์ไขมันสามเฉดสีในหนูทดลอง นำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Investigation ต้นเดือนกรกฎาคม 2024 ได้ข้อสรุปว่าความแตกต่างของเซลล์สามกลุ่มเฉดสีอยู่ที่โปรตีนกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า KLF-15 เซลล์ไขมันสีขาวมีโปรตีนกลุ่มนี้จำนวนน้อย ขณะที่เซลล์ไขมันสีน้ำตาลมีโปรตีนกลุ่มนี้หนาแน่นที่สุด ส่วนเซลล์ไขมันสีเบจมีโปรตีนกลุ่มนี้ในปริมาณระหว่างกลาง โปรตีนกลุ่มนี้ทำหน้าที่สร้างโปรตีนตัวรับที่ชื่อว่า Adrb1 เมื่อใดที่เซลล์ไขมันสีขาวขาดโปรตีน KLF-15 ย่อมขาด Adrb1 เซลล์ไขมันสีขาวจะเปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์ไขมันสีเบจทำหน้าที่สร้างพลังงานทดแทนขึ้นได้ นี่คือกลไกสำคัญ

เมื่อเข้าใจกลไกง่าย ๆ เช่นนี้ ทีมวิจัยทำการสร้างโปรตีนตัวรับตัวใหม่คือ Adrb3 ให้ทำหน้าที่คล้าย Adrb1 ผลคือไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ไขมันสีขาวเกิดการสลายตัวลงทำให้น้ำหนักตัวลดลง ในทางเมแทบอลิซึม เซลล์ไขมันสีขาวทำหน้าที่เก็บไขมันสะสมมากกระทั่งเกิดโรคอ้วน ไขมันที่สะสมไว้สามารถนำมาสร้างเป็นความร้อนได้ในกรณีที่เป็นไขมันสีน้ำตาลซึ่งมีเฉพาะในวัยทารก เมื่อพ้นวัยทารก ความร้อนในเซลล์ไขมันยังเกิดขึ้นได้หากมีเซลล์สีเบจ ซึ่งมีไม่มากนัก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกลไกการเปลี่ยนเซลล์ไขมันสีขาวเป็นเซลล์ไขมันสีเบจโดยสร้างโปรตีนตัวรับ Adrb3 เซลล์ไขมันขาวเปลี่ยนเป็นเซลล์สีเบจเกิดการสร้างพลังงาน เป็นผลให้ไขมันที่สะสมลดปริมาณลง เวลานี้งานวิจัยยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ทว่าเริ่มเห็นหนทางสว่างแล้วในการกำจัดโรคอ้วน เตรียมดีใจล่วงหน้ากันได้เลย

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #เปลี่ยนไขมันสีขาวเป็นไขมันสีเบจ, #โรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *