ลดความดันโลหิตสูงโดยลดเกลือโซเดียมทดแทนด้วยเกลือโปตัสเซียม

ใน พ.ศ.2518 ประชากรโลกวัยผู้ใหญ่มี 75% หรือ 3.05 พันล้านคนโดยมีปัญหาความดันโลหิตสูง 594 ล้านคนหรือ 19.5% ผ่านมา 40 ปี ถึง พ.ศ.2558 ประชากรโลกวัยผู้ใหญ่เพิ่มเป็น 5.6 พันล้านคนมีปัญหาความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นนิดหน่อยโดยไปกระจุกตัวอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัฟริกา การวิจัยสุขภาพขั้นพื้นฐานของอินโดนีเซียใน พ.ศ.2561 พบว่าความชุกของความดันโลหิตสูงในของประชากรวัยผู้ใหญ่ในอินโดนีเซียอยู่ที่ 34.1% ขณะที่ในประเทศไทยพบ 25.4% น้อยกว่าอินโดนีเซียทว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในโลก ปัญหาความดันโลหิตสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงน่าห่วง

ลองไปดูกันที่อินโดนีเซียก็แล้วกัน มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกริฟฟิซ (Griffith University) ในบริสเบน ออสเตรเลียทำวิจัยเรื่องความดันโลหิตสูงในอินโดนีเซียพบว่าปัญหาใหญ่ของคนอินโดนีเซียที่ทำให้ผู้คนในประเทศนี้มีปัญหาความดันโลหิตสูงค่อนข้างชุกคือนิยมบริโภคอาหารเค็มมากเกินไป อาหารอินโดนีเซียเติมโซเดียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ลงในอาหารค่อนข้างมาก ทั้งยังมีโซเดียมในเครื่องปรุงหลายประเภท นิยมผงชูรสซึ่งคือโมโนโซเดียมกลูตาเมทมากอีกต่างหาก วิธีแก้ปัญหาความดันโลหิตสูงในประชากรอินโดนีเซียเร่งด่วนคือต้องลดการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ หากทำสำเร็จจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 27.7 ล้านล้านรูเปียะอินโดนีเซียในระยะเวลา 10 ปี เป็นมาตรการที่ประหยัดต้นทุนได้มากว่ากันอย่างนั้น สามารถเพิ่มงบประมาณพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ได้อีกแยะ

งานวิจัยข้างต้นตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Regional Health – Southeast Asia เดือนมิถุนายน ค.ศ.2024 นักวิจัยใช้วิธีที่เรียกว่า LSSS หรือ low-sodium potassium-rich salt substitutes โดยใช้เกลือโปตัสเซียมทดแทนเกลือโซเดียมในการปรุงอาหาร เพื่อลดการบริโภคโซเดียมโดยอาหารยังมีรสเค็มจากเกลือโปตัสเซียมอยู่ นักวิจัยชาวอินโดนีเซียระบุว่าคนอินโดนีเซียรวมทั้งคนชาติอื่นบริโภคเกลือโซเดียมมากเกินจำเป็น ขณะที่บริโภคโปตัสเซียมค่อนข้างต่ำ การเพิ่มโปตัสเซียมจึงไม่ทำให้บริโภคโปตัสเซียมมากเกินไป เพียงแต่อร่อยลดลงนิดหน่อย

ในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินงานโครงการ LSSS ปรากฏว่าข้อมูลทางสถิติพบว่าช่วยป้องกันเหตุการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ร้ายแรงได้มากถึง 1.5 ล้านเหตุการณ์ และลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ได้มากกว่า 640,000 ราย ประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุดน่าจะเห็นได้ในประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อย คนยากคนจนคือปัญหาใหญ่ของอินโดนีเซีย ลดปัญหาสุขภาพได้ ประชากรเหล่านั้นย่อมมีพละกำลังที่จะทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว แนวทางพัฒนาประเทศควรเป็นไปในทิศทางนั้น พูดคล้าย ๆ ส่งเสียงเตือนมายังประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย อะไรทำนองนั้น

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #lsss, #lowsodium, #richpotassium, #saltsubstitute

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *