บทสรุปขององค์การอนามัยโลกปลาย ค.ศ.2023 มีว่าความดันโลหิตสูงคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่มากกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก ก่อปัญหาให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดราว 10.8 ล้านคนต่อปี ในกรณีประเทศไทย โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของคนไทย เคยมีรายงานว่าประชากรไทยที่เป็นความดันโลหิตสูงมีมากถึง 28.5% ขณะเดียวกันคนที่เป็นโรคไตเรื้อรังมีมากถึง 8.7% โรคเหล่านี้บ่อนเซาะความมั่นคงทางสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ประชากรไทยลดลงจนกลายเป็นปัญหาอยู่แล้ว ประชากรที่เหลือยังอ่อนแออีกต่างหาก อย่างนี้แล้วอนาคตจะเหลืออะไร จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาปัญหาของความดันโลหิตสูงที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการคือการได้รับสารโซเดียมสูงที่มีที่มาจากหลายแหล่ง ตัวสำคัญคือเกลือแกง NaCl นอกจากนั้นยังมีโซเดียมจากผงชูรส เครื่องปรุงที่มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยโซเดียมเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดเป็นตัวดึงโมเลกุลของน้ำให้ตามเข้าไปด้วยส่งผลให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คำแนะนำเรื่องการลดอาหารเค็ม ลดการบริโภคเกลือบ่อยครั้งไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่ เนื่องจากอาหารจืดชืด ขาดรสชาติ ผู้คนรับไม่ค่อยได้ การใช้เกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงอาหารจึงไม่เคยลดลงคำแนะนำทางโภชนาการระยะหลังหันไปหาเครื่องปรุงรสทดแทนเกลือมากขึ้น สารทดแทนเกลือเหล่านี้มีอยู่มากมายและมีมานานแล้ว ทว่าระยะหลังมีสารทดแทนเกลือเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น รสชาติเป็นที่ยอมรับ สารเหล่านี้มีอยู่มากมาย เป็นต้นว่า เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ สารสกัดจากยีสต์ เกลือสาหร่าย กรดอะมิโนสมุนไพรแบบผสม นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องปรุงรสและสมุนไพรต่างๆ เป็นต้นว่า บัลซามิก แอปเปิลไซเดอร์ น้ำส้มสายชูไวน์แดง ปาปริก้า น้ำมันทรัฟเฟิล ขิง สมุนไพรและเครื่องเทศไม่ว่าจะเป็นโรสแมรี่ ไธม์ ผงหัวหอม ผงกระเทียม ผักชีฝรั่ง ผักชี เสจ เมล็ดเซเลอรี่ หรือแม้กระทั่งการใช้มะนาวบีบลงบนอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ การศึกษาวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ใน Journal of the American College of Cardiology เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2024 โดย ศ.นพ.หยางเฟงหวู่ (Yangfeng Wu) และทีมงานแห่งสถาบันวิจัยทางคลินิก มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่าการทดแทนเกลือปกติด้วยเกลือทดแทนเป็นต้นว่าสารต่างๆที่ให้ข้อมูลไว้ข้างต้นสามารถลดอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ทั้งพบว่าผู้ใช้เกลือทดแทนมีอุบัติการณ์และโอกาสที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงลดลง 40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้เกลือทั่วไป ข้อสรุปน่าสนใจขนาดนั้น ขอเชิญชวนพวกเรานำไปประยุกต์ใช้ในครัวและห้องอาหารของพวกเรา#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ความดันโลหิตสูง, #โซเดียม, #สารทดแทนเกลือ