ลดการบริโภคเนื้อแดงแปรรูปและไม่แปรรูปจะดีต่อสุขภาพมากกว่า

เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed meat) บางครั้งเรียกว่าเนื้อปรุง (Cured meat) คือเนื้อสัตว์ที่มีการปรุงแต่ง ดัดแปลงเพื่อปรับปรุงรสชาติหรือเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา วิธีการแปรรูป เป็นต้นว่า การหมักเกลือ การบ่ม การหมัก การรมควัน การต้ม การทอด และ/หรือการเติมสารเคมีกันบูด ทั้งนี้โดยไม่นับรวมกระบวนการทางกลง่าย ๆ อย่างเช่น การตัด การบด เนื้อสัตว์ที่ใช้ในการแปรรูป ได้แก่ เนื้อแดงทั้งหลายทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อม้า เนื้อแพะ เนื้อแกะ นอกจากนี้ยังอาจมีเครื่องในสัตว์หรือผลพลอยได้จากเนื้อสัตว์ เช่น เลือด ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ เบคอน แฮม ไส้กรอก ซาลามิ เนื้อคอร์น เนื้อแดดเดียว ฮอทด็อก เนื้ออาหารกลางวัน (Lunch meat) เนื้อกระป๋อง นักเก็ตไก่ รวมทั้งซอสที่ทำจากเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีประเภทเนื้อปรุงอิตาเลียน (Italian cured meat) ได้แก่ prosciutto, Pancetta, Guanciale, Speck, Lardo เนื้อปรุงสเปน (Spanish cured meat) ได้แก่ Jamón, Chorizo, Lomo, Salchichón, Paletilla, Sobrasada, Morcilla, Fuet, Cecina, Chistorra, Botillo เนื้อปรุงหรือเนื้อแปรรูปของชนชาติอื่นอีกมากรวมทั้งของไทย เช่น ไส้อั่ว แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน

มีรายงานอยู่บ่อยว่าเนื้อแปรรูปและเนื้อปรุงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพนัก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ร่วมกับ the University of North Carolina, Chapel Hill นำข้อมูลจากการสำรวจที่เรียกว่า Centers for Disease Control and Prevention (CDC) national health survey มาใช้ในการวิเคราะห์ นำผลวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Planetary Health เดือนกรกฎาคม 2024 สรุปได้ว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เพียงแค่คนวัยผู้ใหญ่ลดการบริโภคเนื้อแปรรูปลงร้อยละ 30 ในระยะเวลาสิบปี จะสามารถลดปัญหาเบาหวานลงได้มากถึง 350,000 ราย นอกจากนี้ยังสามารถลดผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีก 92,500 ราย ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้อีก 53,300 ราย ประหยัดงบประมาณทั้งของประเทศและของครอบครัวผู้ป่วยได้มหาศาล

ใช่ว่าเนื้อแปรรูปและเนื้อปรุงจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ การบริโภคเนื้อแดงโดยทั่วไปก็เป็นปัญหาเข่นกัน เพียงแต่สร้างปัญหาไม่มากเท่าเนื้อแปรรูปและเนื้อปรุงเท่านั้น ทีมวิจัยลองคำนวณว่าหากคนผู้ใหญ่อเมริกันนอกจากจะลดการบริโภคเนื้อแปรรูปและเนื้อปรุงลงร้อยละ 30 แล้วยังลดการบริโภคเนื้อลงด้วยร้อยละ 30 ลดการบริโภคเนื้อทั้งหมดในเวลาสิบปีจะสามารถลดอุบัติการของโรคเบาหวานลงได้มากถึง 1,073,400 ราย ลดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 382,400 ราย ลดผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีก 84,400 ราย เหตุที่มีจำนวนมากขึ้นมากเนื่องจากสัดส่วนของผู้บริโภคเนื้อแดงที่ไม่แปรรูปมีมากกว่า สรุปเป็นว่าการบริโภคเนื้อแดงอย่างเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อม้าและเนื้ออื่น ก่อปัญหาต่อสุขภาพ ลดการบริโภคเนื้อแดงทั้งปรุงและไม่ปรุงรวมทั้งเนื้อแปรรูปลงจะดีต่อสุขภาพมากกว่า #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #เนื้อแดง, #เนื้อแปรรูป, #เนื้อปรุง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *