ต้นเดือนเมษายน 2567 อ่านเจอข่าวที่ว่าประเทศไทยกลายเป็นถังขยะพลาสติกของโลกไปแล้วเนื่องจากคนไทยใช้พลาสติกมากเกินมาตรฐาน ประมาณกันว่า 12% ของขยะในประเทศไทยหรือ 2 ล้านตันต่อปีคือขยะพลาสติก เป็นผลให้ปัญหาไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมบ้านเราเพิ่มขึ้นพรวดพราด โดยมาจากพลาสติกถูกย่อยสลายจากกระบวนการออกซิเดชัน การผุกร่อนโดยอากาศ กระทั่งลดขนาดลงเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ก่อนกระจายตัวลงสู่แหล่งน้ำและย่อยสลายต่อไปจนเล็กยิ่งกว่าเดิมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำ เวียนเข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหาร
ไมโครพลาสติกมาจากหลายแหล่ง เริ่มตั้งแต่ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ที่แตกหัก รวมไปถึงเม็ดเรซินที่ใช้สำหรับการผลิตพลาสติก หรือไมโครบีดซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม พลาสติกเหล่านี้ถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการต่างๆในธรรมชาติ ก่อนแพร่ลงสู่ดินและน้ำในหลายเส้นทาง ปะปนเข้าไปในกากตะกอนน้ำเสีย เข้าสู่ระบบชลประทาน หลายส่วนมาจากการสลายตัวของวัสดุคลุมดินพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร เมื่อถูกย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก อนุภาคเล็กๆเหล่านี้ผ่านเข้าไปในวงจรอาหารทั้งโดยถูกดูดซึมเข้าสู่รากพืช หรือทางเดินอาหารของบรรดาสิ่งมีชีวิตในดิน หากปล่อยปัญหาไว้ไม่แก้ไขถึงวันหนึ่งไมโครพลาสติกจะทำลายสุขภาพของคนไทย ส่งผลกระทบต่อระบบประกันสุขภาพสาหัสสากรรจ์ยากเกินกว่าจะแก้ไข
เดือนเมษายน 2567 นี้มีรายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives โดยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ติดตามเส้นทางเดินของไมโครพลาสติกในร่างกายโดยศึกษาในหนูทดลองพบว่าเมื่อให้หนูทดลองกินอาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติก ขยะจิ๋วเหล่านี้ดูดซึมผ่านทางเดินอาหารในลำไส้เล็กเข้าสู่หลอดเลือด เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อของอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต หรือแม้กระทั่งสมอง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ที่น่าห่วงคือไมโครพลาสติกมีขนาดรูปร่างและองค์ประกอบที่ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดมาโกรฟาจเห็นว่ามันคือสิ่งแปลกปลอมจึงกลืนกินไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไป ผลคือการหลั่งสารภูมิต้านทานขึ้น เกิดความผิดปกติทางสุขภาพทั้งการเกิดภาวะอักเสบ การลดลงของภูมิต้านทานและอีกสารพัด
มีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าห่วงคือการกลืนกินไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของคนเราทุกวันนี้อาจมีปริมาณเท่ากับการกินบัตรเครดิตเดือนละหนึ่งใบ เป็นไปได้ไหมที่ภาวะไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ภูมิแพ้ที่เพิ่มขึ้น เจ็บป่วยบ่อยๆ รวมไปถึงการมีบุตรยาก หรือแม้กระทั่งปัญหาของบางโรค การหายป่วยค่อนข้างช้าและอีกสารพันปัญหาสุขภาพอาจเป็นผลมาจากไมโครพลาสติก เวลานี้หลายทีมวิจัยกำลังศึกษากันอยู่ สิ่งที่ต้องทำให้ได้ในวันนี้คือคอยระวังปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ช่วยกันลดการใช้พลาสติกกันหน่อย #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ขยะไมโครพลาสติก