ร่วมป้องกันโควิด-19 จากวันศุกร์ถึงวันศุกร์

ว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่วันศุกร์ แต่คนเขียนกันแยะขอเขียนวันนี้ก็แล้วกัน เรื่องมีว่ามีการสอบถามมาถึงผมเรื่องการละหมาดญุมอะฮฺวันศุกร์ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีขอความร่วมมือให้งดโดยให้ละหมาดดุฮฺริแทนสักระยะหนึ่ง ผมตอบไปว่าผมทำตามคำแนะนำของท่านจุฬาราชมนตรี ส่วนคนที่ยังไปรวมตัวกันที่มัสยิดละหมาดญุมอะฮฺโดยใช้วิธีการป้องกันตนเองโดย PPE หรือ Personal Protective Equipment ได้แก่ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ การวางระยะห่างจากคนอื่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย นั้นแม้เป็นสิทธิ์บางคนบอกเป็นหน้าที่แต่มีเรื่องอื่นที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมไปด้วยจึงขออนุญาตออกความเห็น

ผมไม่ได้เรียนอาหรับ แต่ชอบในความลึกซึ้งของภาษาอาหรับ นี่คือตัวอย่าง

‎لاَضَرَرَ و لاَضِراَر

ลาฎะรอรอ วะลาฎิรอด
“ไม่รับอันตรายหรือความเดือดร้อน (ให้กับตนเอง) ไม่ก่ออันตรายหรือความเดือดร้อน (ต่อผู้อื่น)” (มุวัฏเฏาะ 1435)

หะดิษจากท่านรอซูลุลลอฮฺ ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นี้นักวิชาการหลายท่านถือเป็นหนึ่งในคติพจน์ (maxim) สำคัญในอิสลาม ความน่าสนใจอยู่ที่คำว่า ฎิรอด แปลว่าอันตรายหรือความเดือดร้อนที่ตัวประธานเป็นผู้ก่อ เมื่อเป็นคำว่า “ฎะรอรอ” ประธานเป็นผู้ถูกกระทำหรือผู้รับ

ผมก็เหมือนกับมุสลิมจำนวนไม่น้อยคือไม่ลึกซึ้งกับอัลกุรอานและหะดิษจึงต้องศึกษา ในหะดิษข้างต้นเห็นว่าท่านรอซูลุลลอฮฺไม่ได้สอนให้เราดูแลตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูแลผู้อื่นด้วย

ปัญหาใหญ่ของโรคระบาดคือการแพร่ขยายแบบทวีคูณ จากหนึ่งไปสอง ไปสี่ ไปแปด หนึ่งคนจะกลายเป็นพันคนในเวลาไม่นาน จึงจำเป็นต้องตัดวงจร ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเป็นการระบาดระยะที่ 3 ด้วยแล้วยิ่งน่าห่วงเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครและประเทศไทยที่ต้องขอความร่วมมือเรื่องการสร้างระยะห่างที่เรียกว่า social distancing ก็เพราะเชื่อกันว่าเวลานี้เราเข้าระยะที่ 3 ของการระบาดแล้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก

หลายคนกล่าวว่าแม้ตนเองเดือดร้อนก็ไม่กลัว โดยมักลืมไปว่าในที่สุดตนเองจะก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ให้กับครอบครัว สังคมและประเทศชาติ รวมไปถึงโลก ต้องไม่ลืมว่าโรคโควิด-19 เริ่มที่คนๆเดียวในประเทศเดียว วันนี้ติดเชื้อกันแล้วหลายแสนคนในร้อยประเทศ หากไม่แก้ไข พรุ่งนี้จะเป็นหลายล้านคนในทุกประเทศ ท่านรอซูลุลลอฮฺจึงสอนให้เราหนีเมื่อพบเจอโรคระบาด ท่านว่าโรคระบาดนั้นเหมือนสิงโต เจอแล้วให้หนี

มีบ้างที่ระบุว่ารวมตัวกันละหมาดสั้นๆใช้เวลาไม่นาน โดยไม่ทันคิดว่าสั้นๆของมนุษย์คิดเป็นนาที ขณะที่ไวรัสคิดเป็นนาโนวินาที ตัวอย่างเช่น 1 นาทีมนุษย์คือ 1,142 นาทีของไวรัสโควิด-19 ทำกิจกรรมร่วมกันชนิดไม่รู้ว่าใครเป็นใครกี่นาทีก็ลองคูณเอา อย่าลืมคูณจำนวนไวรัสด้วยก็แล้วกันนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องการให้ความร่วมมือกับผู้นำคือจุฬาราชมนตรี กับสังคมใหญ่คือประเทศไทยในภาพรวมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเทศอังกฤษเดิมตั้งใจจะใช้แนวทาง herd immunity หรือการปล่อย โดยยอมให้คนอังกฤษตายไป 277,000 คน ภายหลังพบว่าคงตายกันหลายรอบ สู้วิธี mitigation คือการหน่วงโรคเช่นที่ประเทศไทยทำไม่ได้ แม้ลงทุนมากโดยต้องควบคุม ติดตามการแพร่ แต่คนเสียชีวิตน้อยกว่ามาก ชีวิตคนสำคัญที่สุด ปัญหาคือคนในสังคมบางส่วนยังขาดวินัย กลายเป็นสังคม mitigation ส่วนหนึ่ง herd immunity อีกส่วนหนึ่ง ปัญหาจะลากยาวขึ้น คนจะตายมากกว่าแบบ mitigation ที่มีวินัย แต่ยังดีกว่าปล่อยเฉยๆ การหยุดการแพร่เชื้อแม้เพียงคนเดียวจึงสำคัญอย่างยิ่ง

การระบาดในบ้านเราเวลานี้ ความสามารถของโรงพยาบาลเริ่มรับไม่ไหวแล้ว ใครไม่เห็นแพทย์ร้องไห้ พยาบาลร้องไห้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร้องไห้เพราะทำงานตั้งรับกันไม่ทันคงไม่เข้าใจ จะชนะโรคในวันนี้เราต้องใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก คนในสังคมมีวิธีร่วมรุกโดยการรักษาตนเองอย่าได้กลายเป็นผู้แพร่เชื้อ วิธีคือ “อยู่บ้าน” ง่ายๆอย่างนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *