โลกวันนี้ วิทยาการด้านการแพทย์และโภชนาการก้าวหน้าไปมากเป็นผลให้อายุขัยเฉลี่ยของผู้คนเพิ่มขึ้นทุกปี อย่าง ค.ศ.2022 อายุขัยเฉลี่ยของคนในโลกเพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับ ค.ศ.2021 ถึงวันหนึ่ง “คนอายุร้อยปี” ที่เรียกกันว่า Centenarian จะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่อย่างแน่นอน ทุกวันนี้คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย อย่างสหรัฐอเมริกาพบคนอายุร้อยปี 3 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนประเทศไทยข้อมูลเห็นทีต้องสำรวจกันใหม่ ใน พ.ศ.2560 สำรวจพบว่าทุกแสนคนมีคนไทยอายุร้อยปีเกินสิบคน แต่ปรากฏว่ารายงานผู้เสียชีวิตมีปัญหา คนเสียชีวิตไปแล้ว ญาติไม่ได้แจ้งให้ทางราชการทราบ กลายเป็นอย่างนั้น
วงการแพทย์และโภชนาการไม่ได้ต้องการแค่คนอายุยืนยาวเพียงอย่างเดียวยังต้องมีสุขภาพดีพร้อมกันไปด้วย นายแพทย์สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการรณรงค์โครงการ “เก้าสิบปีเดินได้” เพื่อให้บุคลากรจุฬาฯมีอายุขัยยืนยาวขึ้นโดยยังมีสุขภาพที่ดี เรื่องอย่างนี้ทำได้ด้วยการเรียนรู้และต่อยอดจากชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ลองดูกันว่าชาติใดบ้างที่มีคนอายุร้อยปีมากที่สุด พบว่า กวาเดอลูป (หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน) เป็นอันดับหนึ่งโดยมีคนอายุร้อยปีขึ้นไป 299 คนต่อประชากรแสนคน บาร์บาโดสอันดับสองอยู่ที่ 71 คนต่อแสนคน มาร์ตินิกอันดับสาม 63 คนต่อแสนคน ญี่ปุ่นกับอุรุกวัยอันดับสี่เท่ากันมี 62 คนต่อแสนคน
ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษากระบวนการยืดอายุขัยของมนุษย์พบว่าเหตุผลสำคัญที่บางคนมีอายุร้อยปีขึ้นไปเป็นผลมาจากดีเอ็นเอหรือพันธุกรรมที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ ปัจจัยนี้คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้จึงต้องหาทางยืดอายุขัยด้วยวิธีอื่น สำคัญที่สุดคือแนะนำด้านโภชนาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เรื่องนี้ นายแพทย์อเล็กซานเดอร์ ลีฟ (Alexander Leaf) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทำรายงานวิจัยไว้ใน ค.ศ.1982 สรุปสั้น ๆ ว่าการยืดอายุขัยสามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ สามประการ ได้แก่ กินน้อยลง ขยับร่างกายมากขึ้น มีสังคมมากขึ้น แนะนำอย่างนั้นดูจะกำปั้นทุบดินมากไปหน่อย ลองดูวิธีการที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้กันดีกว่า
แพลตฟอร์ม Manulife จากประเทศแคนาดาแนะนำ 8 วิธียืดอายุขัยให้กลายเป็นคนอายุร้อยปีขึ้นไปว่ามีดังนี้ (1) ลดเนื้อแดงเพิ่มโปรตีนจากอาหารฐานพืช (plant-based proteins) เพิ่มถั่วเมล็ดแห้ง นัท สีด เต้าหู้ ถั่วเหลือง (2) เพิ่มกิจกรรมลดเครียด เช่นว่าทำสมาธิ ทำโยคะ ละหมาด เดินเล่น อ่านหนังสือบันเทิงสมอง (3) ลดกิจกรรมเฉื่อย ขยับร่างกายมากขึ้น ออกกำลังกาย ลดนั่งนาน ลุกเดินบ่อย ๆ ลุกจากการนั่งกับพื้นช่วยได้ดี (4) ควบคุมสมดุลร่างกาย ป้องกันตนเองอย่าให้ล้ม (5) พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ (6) หมั่นสร้างทัศนคติเชิงบวก ลดทัศนคติเชิงลบ (7) เพิ่มผักและผลไม้ในมื้ออาหาร เลือกอาหารสีรุ้ง หลากสี หลากกลิ่น หลากรส ( ร่วมสังคมกับผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวก ฝึกทำให้ได้อย่างนี้การเป็นคนอายุร้อยปีขึ้นไปย่อมไม่หนีไปไหน ว่ากันอย่างนั้น
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #centenarian, #คนอายุร้อยปี, #โปรตีนฐานพืช, #plantbased, #สัณฐิติดะห์ลัน,