เรื่องนี้ไม่ใหม่สักเท่าไหร่ เป็นรายงานทาง Science News เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดย แจ็ค เจ. ลีซึ่งเขียนบทความจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษจากสองมหาวิทยาลัยคือ Hermes Gadêlha นักคณิตศาสตร์จาก Bristol University และ Allan Pacey ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายจาก University of Sheffield โดย Pacey ศึกษาการเคลื่อนไหวของสเปิร์มซึ่งเป็นเซลล์พันธุกรรมของฝ่ายชายโดยใช้กล้องจุลทรรศน์สามมิติ ขณะที่ Gadêlha ถอดการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนของสเปิร์มออกมาเป็นสูตรคณิตศาสตร์ เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวได้จริง ได้ผลออกมาทำให้นักวิทยาศาสตร์พากันประหลาดใจนักวิทยาศาสตร์ศึกษาการเคลื่อนไหวของสเปิร์มมานานกว่า 300 ปีแล้ว ครั้งแรก Antonie van Leeuwenhoek ชาวดัทช์ผู้พัฒนากล้องจุลทรรศน์รุ่นแรกได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูสเปิร์มและรายงานว่าสเปิร์มว่ายเข้าไปในของเหลวของไข่ซึ่งเป็นเซลล์พันธุกรรมของฝ่ายหญิงโดยหมุนส่วนหางเหมือนใบพัดเรือ หางแกว่งไปมาในรูปแบบสมมาตรคล้ายหางของงูหรือปลาไหล นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังศึกษาจากกล้องจุลทรรศน์พบว่าการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเป็นอย่างนั้นจริง สรุปเอาเป็นว่านักวิทยาศาสตร์ถูกหลอกทำให้เข้าใจผิดเช่นนั้นมาตลอดกล้องจุลทรรศน์สามมิติความเร็วสูงที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษใช้ในงานการศึกษาครั้งใหม่นี้ ภาพที่ถ่ายออกมาค่อนข้างซับซ้อนทว่าเมื่อถอดสูตรคณิตศาสตร์ออกมาพบว่าเซลล์สเปิร์มในอสุจิของมนุษย์ว่ายน้ำคล้ายการทำงานของตัวไขสกรู (Screw driver) ที่ใช้ไขเพื่อเปิดจุกไวน์ช่วยให้เจาะเข้าไปในเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงได้ นอกจากนี้ยังพบเพิ่มเติมด้วยว่าการเคลื่อนไหวของหางอสุจิแบ่งได้เป็นสองส่วน โดยส่วนหลักขยับไปข้างเดียวของเซลล์ คล้ายคนกำลังว่ายน้ำโดยใช้ร่างกายเพียงด้านเดียว หากว่ายในลักษณะนี้ในที่สุดจะการว่ายจะเป็นวงกลมเหมือนพายเรือด้วยพายด้านเดียวที่ทำให้เรือหมุน ทว่าหางสเปิร์มส่วนที่สองกลับขยับไปในอีกทิศทางหนึ่งทำให้เกิดความสมมาตร สุดท้ายสเปิร์มสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงการค้นพบดังกล่าวร่วมกับการศึกษาเพิ่มเติมถึงการเคลื่อนไหวของเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถวินิจฉัยกระทั่งรักษาภาวะมีบุตรยากของมนุษย์ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันอย่างนั้น พักหลังผู้คนที่มีปัญหาด้านการมีบุตรยากมีจำนวนค่อนข้างสูง งานนี้อาจแก้ปัญหาด้านนี้ได้สำเร็จก็ได้ ช่วยกันเอาใจช่วยหน่อย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การเคลื่อนไหวของสเปิร์ม