รู้จัก “คอมบูชา” ชาหมักกันหน่อย

ติดค้างกันมาพอสมควรกับคำขอของเพื่อนๆที่อยากได้เนื้อหาเกี่ยวกับชาหมัก “คอมบูชา” (Kombucha) สักหน่อยเรื่องนี้ไม่อยากเขียนให้ยาวนัก ลองไปหาอ่านกันตามออนไลน์น่าจะสะดวกกว่า เวลาอ่านคอยระวังเรื่องโอเวอร์เคลมหรืออวดสรรพคุณเกินจริงกันหน่อยประเภทว่าสามารถรักษาสารพัดโรคอะไรทำนองนั้น ในเชิงอาหารและโภชนาการ ไม่มีอาหารดีเลิศ หรือเลวบริสุทธิ์ หรืออาหารมหัศจรรย์หรอก คอมบูชา (Kombucha) เป็นเครื่องดื่มประเภทชาหมักมีประวัติความเป็นมายาวนานเกินสองพันปีมาแล้วโดยเริ่มต้นที่มณฑลแมนจูเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนประมาณสองร้อยปีก่อนคริสตกาล ในภาษาจีนเรียกว่า หงฉาจุน (红茶菌) ก่อนจะแพร่ไปที่รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น มาดังกันจริงจังก็เมื่อมีคนอเมริกันนำเอาไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เกิดเป็นกระแสพีอาร์สไตล์อเมริกันที่แพร่ไปทั่วโลก แต่ไม่ถึงขนาดดังเปรี้ยงปร้าง อย่างลูกชิ้นยืนกิน หรือโรตีสายไหม หรือข้าวเหนียวมะม่วง ที่ได้พรีเซนเตอร์เป็นนักร้องไทยระดับโลกอย่างที่เห็นกันหรอกหากจะถามว่าคอมบูชาให้คุณค่าต่อสุขภาพจริงหรือเปล่า ตามหลักวิชาการนั้นยอมรับกันว่าคอมบูชามีประโยชน์ในแง่ของโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นประโยชน์จากแบคทีเรียในทางเดินอาหาร ชาที่หมักด้วยเชื้อยีสต์และแบคทีเรียผสมที่เรียกกันว่า “สโคบี” (SCOBY หรือ Symbiotic Culture of Bacterium and Yeast) นั้นให้คุณค่าต่อระบบทางเดินอาหารได้แน่นอน เสียดายเพียงประการเดียวคืองานวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการชนิดเกื้อหนุนคุณค่าต่อสุขภาพของชาหมักคอมบูชามีน้อยไปหน่อย คิดจะหนุนกันทางวิชาการจึงทำได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักความที่ดื่มกันในรูปของชาหมักกันมานานเป็นพันปี คุณค่าย่อมได้รับการยอมรับกันพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโพรไบโอติกส์ที่ช่วยเข้าไปเติมและปรับสมดุลแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารของร่างกาย ข้อมูลประโยชน์ของจุลินทรีย์กลุ่มนี้ยิ่งวันก็ยิ่งมีมาก ที่ช่วยด้านสุขภาพมากที่สุดคือช่วยเรื่องการขับถ่าย บรรเทาปัญหาในทางเดินอาหาร ความที่เป็นชาหมักจึงอุดมไปด้วยกลุ่มสารไมโครและไฟโตนิวเทรียนท์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ ดูแลภาวะไขมันในร่างกายอีกหนึ่งคำถามที่มาถึงผมอยู่บ่อยคือชาหมักคอมบูชา มุสลิมดื่มได้ไหม คำตอบง่ายๆคือดูที่การรับรองฮาลาลเนื่องจากองค์กรศาสนาอิสลามเข้าไปดูแลแล้ว หากไม่มีการรับรอง โดยทั่วไปไม่เคยมีรายงานว่าชาหมักกลุ่มนี้ดื่มแล้วเกิดอาการมึนเมา เนื่องจากในกระบวนการเกิดแอลกอฮอล์ค่อนข้างต่ำ จึงไม่มีประเด็นทางด้านหะรอมหรือไม่ฮาลาล สิ่งที่ควรระวังคือคอมบูชาชนิดที่เตรียมไม่ถูกต้อง อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ขอให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ทาง อ.ย.รับรองก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #คอมบูชา, #Kombucha

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *