รายงานเบื้องต้นเรื่ององค์ประกอบทางเคมีของสบู่ก้อนที่ตกเป็นข่าว

จากข่าวที่แพร่กันทางออนไลน์ว่าผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป อาจมีการใช้ไขมันสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (สุกร) เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หลายฝ่ายรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสอบถามทางวาจามายังศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) รวมถึงบางฝ่ายได้ส่งเอกสารประกอบบางส่วน เรียกร้องให้มีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตกเป็นข่าวดังกล่าว เนื่องจากเป็นข่าวที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคมุสลิม ทาง ศวฮ.จึงทำการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนที่เป็นข่าวดังกล่าวจากท้องตลาดจำนวนทั้งสิ้น 4 กลิ่น ในบรรจุภัณฑ์สีต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบ ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 โดยทีมของ ดร.พรพิมล มะหะหมัด น.ส.ยูอาน่าร์ นุ่งอาหลี และ น.ส.สุกัญญา โสอุดร พบว่าไม่สามารถสกัดดีเอ็นเอจากทุกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบชนิดของสัตว์ด้วยเทคนิค RT-PCR อาจเนื่องจากไม่มีองค์ประกอบของสัตว์ในตัวอย่างดังกล่าว เมื่อทำการตรวจสอบชนิดของกรดไขมันด้วยเทคนิค GLC ผลปรากฏว่าชนิดของกรดไขมันในทุกผลิตภัณฑ์ที่ส่งตรวจมีความคล้ายคลึงไขมันจากผลปาล์ม โดยอาจมีไขมันจากเนื้อมะพร้าวปะปนอยู่บางส่วน โดยไม่พบไขมันจากสัตว์แต่ประการใด สรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่าผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนดังกล่าวไม่พบการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์การรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลครั้งนี้รายงานเฉพาะตัวอย่างที่ทำการตรวจวิเคราะห์ โดยทำเพื่อประโยชน์เบื้องต้นต่อผู้บริโภคที่มีความกังวลสูง ในการตรวจสอบดังกล่าวไม่สามารถระบุสภาพฮาลาลของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคมุสลิม ทางผู้ผลิตควรขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ ตลอดจนกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมั่นใจแก่ผู้บริโภคต่อไป #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล, #ไขมันสัตว์ในผลิตภัณฑ์สบู่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *