งานวิจัยในยุคหลังพบข้อดีต่อสุขภาพของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอีกมากมาย เช่น ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น เซลล์เกิดเมแทบอลิซึมในการทำความสะอาดตนเองที่เรียกว่า Autophagy มากขึ้นส่งผลให้อายุขัยยืนยาวขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของสมองสูงขึ้น ประโยชน์เหล่านี้มิได้เกิดขึ้นกับผู้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนทุกคน แต่เกิดกับผู้ถือศีลอดที่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับการศึกษาของพันเอก M,Maislos ที่กล่าวถึงข้างต้น ข้อมูลด้านบวกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้มุมมองต่อการถือศีลอดของมุสลิมในเดือนรอมฎอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจากที่เคยเข้าใจว่าพลังของการถือศีลอดเกิดจากการอดอาหาร ปัจจุบันพบว่าประโยชน์ต่อสุขภาพของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนหรือ “อัตตัฏยีรอต” (التغييرات Changes) ที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมสุขภาพใน 4 มิติ ได้แก่ (1) การปรับเปลี่ยนเวลาการกินอาหารและลดปริมาณการกินลง (2) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนโดยลดการนอน ตื่นขึ้นในยามค่ำคืน (3) การปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางร่างกาย มีการละหมาดหรือการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นในยามค่ำคืนทั้งการละหมาดตะรอเวียะที่เป็นส่วนหนึ่งของการละหมาดกิยามุลลัย รวมถึงการตื่นละหมาดยามดึกที่เรียกว่าตะฮัจญุด สุดท้าย (4) การปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางจิตวิญญาณจากการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานมากขึ้นและการเพิ่มกิจกรรมทางศีลธรรม
มุมมองที่เปลี่ยนไปเช่นนี้มีผลทำให้นักประวัติศาสตร์และนักสังคมจิตวิทยาเปลี่ยนมุมมองในประเด็นของฮิจเราะฮฺว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นโดยค้นพบพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ สิ่งแวดล้อมรวมถึงพฤติกรรมและวิธีคิด อันเป็นผลให้ชนอาหรับทะเลทรายที่ด้อยอารยธรรมสามารถสร้างพลังกระทั่งเปลี่ยนกลุ่มชนตนเองให้กลายเป็นมหาอำนาจทางปัญญาไปได้ พลังการเปลี่ยนจากฮิจเราะฮฺมิใช่เกิดเพียงครั้งเดียวแต่ถึงสี่ครั้งจากมักกะฮฺสู่มะดีนะฮฺ จากมะดีนะฮฺสู่กูฟา จากกูฟาสู่ดามัสกัสและจากดามัสกัสสู่แบกแดด หลังจากนั้นกว่าพันปีชาวยุโรปพากันโยกย้ายถิ่นสู่อเมริกาเกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงกระทั่งสร้างสหรัฐอเมริกาขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามพลังที่เกิดขึ้นยังไม่เท่ากับพลังที่ชนอาหรับเคยสร้างขึ้นในอดีต บทสรุปออกมาอย่างนั้น