รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless cars) บางครั้งเรียกว่ารถอัตโนมัติ (Autonomous cars) พัฒนา ทดสอบ และใช้จริงเป็นที่เรียบร้อย เมืองแรกที่ใช้คือฟินิกซ์ (Phoenix) รัฐอริโซนา เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2017 เป็นการทดสอบโดยไม่ใช้คนควบคุมหรือคอยดูแล รถยนต์ที่ทดสอบคือมินิแวนยี่ห้อ Waymo ของบริษัท Alphabet Inc. ซึ่งเป็นกิจการของกูเกิ้ล (Google) บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ชื่อดัง มาวันนี้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง General Motors, Ford, Mercedes Benz, Volkswagen, Audi, Nissan, Toyota, BMW, และ Volvo แข่งกันพัฒนารถยนต์ไร้คนขับกันยกใหญ่ เชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็นรถกลุ่มนี้ออกมาวิ่งกันให้เห็น ผู้คนในอนาคตอันใกล้ไม่จำเป็นต้องมีรถหรือขับรถกันอีกต่อไป อยากไปไหนเพียงโทรเรียกรถอัตโนมัติให้มารับ พาไปส่งถึงที่ได้ทุกจุด ออกคำสั่งได้ด้วยการใช้ภาษาพูด จะใช้ภาษาเบรลก็ได้ ก้าวหน้ากันถึงอย่างนั้น
รถไร้คนขับเป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากรถไฟฟ้า ซึ่งก้าวเข้ามาอย่างไม่มีใครตั้งตัว ในอดีตราคาน้ำมันถูกมากเป็นผลให้รถไฟฟ้าเกิดขึ้นไม่ได้ทั้งๆที่พัฒนามาก่อน ราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเทคโนโลยีรถยนต์ จาก ค.ศ.1975 ถึง 2005 ยาวนานกว่าสามสิบปี ราคาน้ำมันดิบแกว่งในระดับ 40-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจนกระทั่งรู้สึกว่าราคาน้ำมันคงไม่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว จู่ๆหลัง ค.ศ.2006 เป็นต้นมาราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นเป็นติดจรวดกระทั่งเกิน 100 เหรียญใน ค.ศ.2007 จากนั้นในปี 2008 ราคาทะลุ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล วงการเทคโนโลยีรถยนต์จึงต้องถกกันเรื่องพลังงานทดแทน แต่แล้วโดยไม่มีใครคาดคิดนับจาก ค.ศ.2014 เป็นต้นมาราคาน้ำมันกลับดิ่งหัวลงอย่างรุนแรงจนถึง ค.ศ.2017 ราคาน้ำมันเหลือไม่ถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทรถยนต์ทั้งหลายจึงเลิกคิดถึงพลังงานทดแทน แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ.2015 รถไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ออกมาเปิดโฉมเป็นครั้งแรก สร้างยอดขายถล่มทลายกระทั่งไม่มีบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งไหนในโลกที่ไม่ยอมหันไปพัฒนารถไฟฟ้าของตนเองเข้ามาแข่ง
มาวันนี้เทคโนโลยีในโลกรถยนต์ก้าวเข้าสู่ยุคใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ในขณะที่โลกยังไม่หายช็อกจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า กลับต้องช็อกหนักอีกครั้งหนึ่งเมื่อรถไฟฟ้าก้าวเข้าสู่ยุคไร้คนขับที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติทั้งคัน ลดการสัมผัสรถคันอื่นด้วยระบบเซนเซอร์รอบคัน เมืองในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณไฟจราจรโดยจะควบคุมการจราจรของรถไร้คนขับด้วยอิเลคโทรนิคส์ระบบบิ๊กดาต้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รถไร้คนขับพบอุปสรรคเข้าจนได้เมื่อผู้บริโภคสูงอายุซึ่งกำลังจะเป็นประชากรหลักในอนาคตไม่ไว้ใจความปลอดภัยของรถไร้คนขับนั่นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือรู้สึกว่ารถมีคนขับให้ความรู้สึกอบอุ่นกว่า พูดคุยกันได้ หายเหงาทั้งสร้างกำไรจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้สึกของผู้บริโภคเช่นนี้เองที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ยุค 1.0 ยังไม่ยอมล้มหายตายจากไปไหนในโลกที่เข้าสู่ยุค 4.0 เต็มตัว โลกมันตลกได้ถึงระดับนั้นจริงๆ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #รถไร้คนขับ