ย้อนมองอดีตเมื่อชนยุโรปเหยียบบ่ายักษ์อาหรับ ตอนที่ 6

ย้อนกลับไปที่ปาฐกถาในพิธีเปิดศูนย์อิสลามศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดใน ค.ศ.1993 ของสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลอีกครั้ง บรรยากาศทางการเมืองของโลกเวลานั้นเป็นใจให้กับโลกตะวันตกอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามเย็นด้วยการรื้อทำลายกำแพงเบอร์ลินใน ค.ศ.1989 นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและบริวารใน ค.ศ.1991 ทว่าช่วงเวลาเดียวกันบรรยากาศระหว่างโลกตะวันตกกับโลกอิสลามกลับไม่ดีนัก ต้น ค.ศ.1991 เกิดสงครามอ่าวระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกับประเทศอิรัก ไฟสงครามในตะวันออกกลางลากยาวจากทศวรรษที่ 1990 เวลานั้นมาจนกระทั่งทศวรรษที่ 2020 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบในปาฐกถาอันยาวนานของพระองค์ ทรงเน้นว่าความเข้าใจผิดระหว่างโลกอิสลามกับโลกตะวันตกยังคงดำเนินอยู่ ความกังวลของโลกตะวันตกมาจากความไม่รู้ อันที่จริงสิ่งที่เชื่อมโลกอิสลามกับโลกตะวันตกทรงพลังยิ่งกว่าสิ่งที่จะแบ่งโลกทั้งสองออกจากกัน ทั้งสองโลกมีหลายสิ่งร่วมกัน ค่านิยมหลักเหมือนกัน ทว่า 14 ศตวรรษที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่สร้างความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายมองสงครามครูเสดและเหตุการณ์ในไอบีเรียแตกต่างกัน ค.ศ.1492 คือปีแห่งความสำเร็จของชนยุโรป ขณะที่มุสลิมมองปีนั้นคือปีแห่งโศกนาฏกรรม กระทั่งวันนี้โลกตะวันตกยังมองมุสลิมยุคกลางในฐานะผู้พิชิตทางทหาร ในขณะที่ยุคปัจจุบัน โลกมุสลิมคือแหล่งของความคลั่งไคล้และการก่อการร้าย ชาวยุโรปมองการยึดคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ. 1453 คือความหดหู่ โดยลืมนึกถึงเหตุการณ์ที่นโปเลียนรุกรานอียิปต์ใน ค.ศ.1798 ตามด้วยการรุกรานและพิชิตโลกอิสลามในศตวรรษที่ 19 โลกอาหรับเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก ชัยชนะคล้ายสมบูรณ์แล้ว ทว่าทัศนคติของโลกตะวันตกที่มีต่อโลกอิสลามกลับยังทนทุกข์ไม่เปลี่ยนแปลง ยังตัดสินโลกอิสลามโดยยึดเอาสิ่งสุดขั้วมาเป็นบรรทัดฐาน นี่คือข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงสำหรับโลกตะวันตก โลกตะวันตกประเมินความสำคัญของอารยธรรมอิสลามตลอด 800 ปีระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึง 15 ในไอบีเรียต่ำไป มุสลิมสเปนไม่เพียงรวบรวมและเก็บรักษาเนื้อหาทางปัญญาของอารยธรรมกรีกและโรมันโบราณไว้ ทว่ายังขยายปัญญาเหล่านั้นสู่ความก้าวหน้าหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์, ดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, พีชคณิต, กฎหมาย, ประวัติศาสตร์, การแพทย์, เภสัชวิทยา, ทัศนศาสตร์, การเกษตร, สถาปัตยกรรม, เทววิทยา, ดนตรี Averroes และ Avenzoor นักวิทยาศาสตร์มุสลิมแห่งไอบีเรีย เป็นเช่นเดียวกับ Avicenna และ Rhazes นักวิทยาศาสตร์มุสลิมในตะวันออกกลาง มีส่วนร่วมในการศึกษาและฝึกฝนการแพทย์ในรูปแบบที่ยุโรปได้รับประโยชน์มาหลายศตวรรษหลังจากนั้น เหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลทรงตรัส กระทั่งสร้างความสนใจใคร่รู้ว่าประวัติศาสตร์ของมุสลิมในไอบีเรียเป็นเช่นไร เพราะนับจาก ค.ศ.1492 เป็นต้นมา โลกตะวันตกได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ยุโรปจึงประดุจคนแคระที่เหยียบบ่ายักษ์อาหรับ ทว่ากลับพยายามอย่างยิ่งที่จะลืม #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปนปอร์ตุเกส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *