นักประวัติศาสตร์ตะวันตกกำหนดไว้ว่าระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 คือ “ยุคกลาง” (Medieval era) ของยุโรป เริ่มตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกหรือกรุงโรมช่วง ค.ศ.376-476 ทอดยาวคาบเกี่ยวเข้าไปในช่วงเริ่มต้นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาหรือเรเนสซองค์ (Renaissance era) ศตวรรษที่ 13-17 ต่อเข้ากับยุคการค้นพบ (Age of Discovery) ศตวรรษที่ 15-18 ยุคหลังนี้หากนับเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกก็ไม่ผิด ยุคการค้นพบยังคาบเกี่ยวเข้าไปใน “ยุคเรืองรองทางปัญญา” (Age of Enlightenment) ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ยุคสมัยจึงเหลื่อมและซ้อนทับกันไปมาในลักษณะเช่นว่านี้เมื่อนักประวัติศาสตร์มองจากยุคเรืองรองทางปัญญาย้อนกลับไปในยุคกลาง สิ่งที่เห็นคือความมืดมิด จึงเรียกยุคกลางอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุคมืด” (Dark Age) ช่วงนี้เองที่อิสลามถือกำเนิดขึ้นในตะวันออกกลางเริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 ผ่านยุคสมัยของจักรวรรดิอิสลามราชวงศ์อุมัยยะฮฺในช่วงศตวรรษที่ 7-8 ต่อด้วยราชวงศ์อับบาสิยะฮฺในช่วงศตวรรษที่ 8-13 นักประวัติศาสตร์นับศตวรรษที่ 7-13 ว่าคือ “ยุคทองของอิสลาม” (Islamic Golden Age) แสงแห่งความเรืองรองของอิสลามจึงส่องสว่างวาบขึ้นท่ามกลางความมืดมิดของยุโรปในยุคกลาง โลกตะวันตกกับโลกอิสลามนั้นเชื่อมต่อกัน ความขัดแย้งระหว่างคริสต์ศาสนิกชนกับมุสลิมจึงยากที่จะหลีกเลี่ยงเกิดเป็นสงครามยาวนาน ดังเช่น สงครามครูเสด (Crusade wars) ในตะวันออกกลางระหว่างนักรบครูเสดของยุโรปกับจักรวรรดิมุสลิมเพื่อแย่งชิงกรุงเยรูซาเล็มเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 11-13 สงครามรีคองกิสตา (Reconquista wars) ระหว่างอาณาจักรสเปน-ปอร์ตุเกสกับอาณาจักรอัล-อันดาลุสเพื่อแย่งชิงแผ่นดินไอบีเรียเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 8-15 สงครามเติร์ก-ไบแซนไทน์ (Turks-Byzantine wars) ระหว่างจักรวรรดิเซลจุกและอุสมานียะฮฺกับไบแซนไทน์เพื่อครอบครองแผ่นดินอะนาโตเลียและเมืองคอนสแตนติโนเปิลเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 11-15 ความขัดแย้งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นับเป็นยุคกลางของยุโรปทั้งสิ้นปาฐกถาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์หัวข้อ “อิสลามและตะวันตก” ในพิธีเปิดศูนย์อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1993 ทรงให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนสองศาสนาคือคริสต์และมุสลิมเป็นอย่างมาก สิ่งที่พระองค์ทรงย้ำคือในระหว่างความขัดแย้งเกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม รวมถึงวิทยาการอีกมากมาย ยุคทองของอิสลามจึงมีส่วนอย่างสำคัญต่อการฟื้นตัวของยุโรปกระทั่งหลุดพ้นจากยุคมืดเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาและยุคเรืองรองทางปัญญา ความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างอาณาจักรอิสลามกับยุโรปจึงมีมากเหลือคณานับ ยุโรปเป็นหนี้ต่อโลกอิสลามมากมาย แทนที่จะสร้างความร่วมมือกันเชิงสร้างสรรค์ บ่อยครั้งชนยุโรปกลับเลือกจดจำเฉพาะส่วนของความคับแค้นทางประวัติศาสตร์ เรื่องหลังนี้เห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยที่ปอร์ตุเกสและสเปนก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิในศตวรรษที่ 16 หลังการล่มสลายของอาณาจักรอัล-อันดาลุสซึ่งน่าเสียดาย ทรงปรารภเช่นนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน