ใน ค.ศ.750 เมื่อเจ้าชายอับดุลเราะฮฺมานที่ 1 (ค.ศ.731-788) หลบภัยการเมืองจากดามัสกัสในซีเรียข้ามอัฟริกาเหนือไปจนถึงไอบีเรีย สถาปนาราชวงศ์อุมัยยะฮฺที่ล่มสลายไปแล้วขึ้นได้อีกครั้งใน ค.ศ.756 กระทั่งสร้างฆูรฎูบะฮฺหรือคอร์โดบา (Cordoba) รุ่งเรืองทางการค้ากลายเป็นศูนย์กลางของยุโรปในยุคกลาง นำคาราวานสินค้าใหม่จากโลกตะวันออกผ่านเส้นทางสายไหมเข้ามายังยุโรปตะวันตก ระหว่างการปกครองของอุมัยยะฮฺจาก ค.ศ.756-1031 อัล-อันดาลุส อาณาจักรมุสลิมในไอบีเรีย พัฒนาวิทยาการขึ้นมากมาย ทั้งด้านศิลปะ, สถาปัตยกรรม, วิทยาศาสตร์, การศึกษา, โรงเรียน, วิทยาลัย, ห้องสมุด, หอดูดาว, โรงพิมพ์, โรงกระดาษ, นำความรู้เข้าไปพัฒนาไอบีเรียสามารถสร้างอารยธรรมอิสลามขึ้นอย่างโดดเด่นในพื้นที่ ถึงศตวรรษที่ 11-12 วิทยาการรุ่งเรืองเหล่านั้นกลายเป็นฐานให้ชนสเปนและปอร์ตุเกสซึ่งทำศึกรีคองกิสตา (Reconquista) ชิงแผ่นดินไอบีเรียกับอันดาลุส (Al-Andalus) ค่อยๆสร้างอาณาจักรของตนขึ้นกระทั่งพัฒนาไปเป็นอาณาจักรปอร์ตุเกส, เลออน, คาสติล, นาวาร์เร, อะรากอน มีการนำศิลปวิทยาการของชนอาหรับ-อะมาซิกฮฺ ไปต่อยอดอันเป็นเหตุผลว่าเหตุใดในบรรดาชาติยุโรปตะวันตกด้วยกัน ปอร์ตุเกสและสเปนที่เป็นเพียงชาติใหม่ในไอบีเรียจึงพัฒนาสังคมไปได้รวดเร็วกระทั่งก้าวหน้ากว่าชาติอื่นในยุโรปทั้งหมด สร้างชาติของตนให้เป็นมหาอำนาจทางทะเลได้อย่างรวดเร็วในยุคสมัยแห่งการค้นพบ (Age of Discovery) ค.ศ.1401-1800 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับปลายยุคของอาณาจักรอันดาลุสในไอบีเรียได้เช่นนั้นการพึ่งพาสินค้าจากทางตะวันออกที่ผ่านมือพ่อค้ามากมายบนเส้นทางสายไหมเป็นผลให้สองชาติใหม่แห่งไอบีเรียคิดถึงการสร้าง “เกมใหม่ทางการค้า” โดยหาเส้นทางเดินเรือตรงไปยังเอเชียตะวันออกอันเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันการเดินเรือและการทำแผนที่ช่วงต้นศตวรรษที่ 15 นำไปสู่การค้นพบใหม่ๆมากมาย ทั้งลมสินค้า (Trade wind) และกระแสน้ำ ทั้งปอร์ตุเกสและสเปนนำความรู้ด้านแผนที่ เข็มทิศ ดาราศาสตร์ การสร้างเรือเดินสมุทรที่ได้จากชนอาหรับไปต่อยอดกระทั่งสร้างความเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้อย่างรวดเร็วหลังการล่มสลายของอันดาลุส เช่นนี้เองที่เป็นผลให้ตัวผมสนใจใคร่รู้ว่ามุสลิมเข้าไปสร้างอาณาจักรในไอบีเรียและดำรงอยู่อย่างยาวนานเกือบ 8 ศตวรรษบนดินแดนนั้นได้อย่างไร สร้างองค์ความรู้ในไอบีเรียไว้มากมายเพียงไหนอันเป็นฐานให้เกิดการพัฒนาสังคมยุโรปตะวันตกให้กลายเป็นจักรวรรดิปกครองโลกได้ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์ ทรงมีปาฐกถาหัวข้อ “อิสลามและตะวันตก” ในพิธีเปิด “ศูนย์อิสลามศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด” (Oxford Center for Islamic Studies) ณ เชลโดเนียน เธียเตอร์ (The Sheldonian Theatre) เมืองอ็อกฟอร์ด สหราชอาณาจักร ทรงกล่าวถึงอาณาจักรมุสลิมแห่งไอบีเรียรวมถึงยุโรปในภาพรวมไว้อย่างน่าสนใจ ลองไปติดตามศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าโลกอิสลามและตะวันตกพึ่งพากันอย่างไร ไม่ใช่แตกแยกและขัดแย้งเช่นที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน