ในโลกวันนี้ โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพไปแล้ว แพทย์และนักโภชนาการจึงพัฒนาสูตรอาหารทางโภชนาการขึ้นมาเป็นการใหญ่เพื่อใช้ลดความอ้วน ที่นิยมกันมากคือสูตรแอตกินส์ (Atkins diet) สูตรเซาท์บีช (Southbeach diet) เรียกกันว่าสูตรโลว์คาร์บ โดยลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้เหลือน้อยที่สุด สูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำที่ว่านี้ยังพัฒนาไปเป็นสูตรอาหารลดโรคอ้วนอีกหลายสูตร ที่นิยมกันมากคือคือสูตรอาหารคีโต (Keto diet) ที่จะขอนำมาถกกันในครั้งนี้
สูตรอาหารคีโตหรืออาหารคีโตเจนิกใช้วิธีลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งทั้งหมดให้เหลือน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน หรืออาจลดลงไปอีกกระทั่งเหลือเพียง 20 กรัมต่อวันเท่านั้น เมื่อไม่ได้พลังงานจากแป้ง จึงมีการเพิ่มสัดส่วนของไขมันจนถึงระดับ 70-80% ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าพลังงานทั้งหมดที่ได้จากอาหารส่วนใหญ่มาจากไขมัน ขณะที่มาจากคาร์โบไฮเดรต 5-10% ส่วนโปรตีนเหลือ 10-20% ให้เพียงพอต่อความต้องการ การได้รับไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักอย่างนี้เป็นผลให้ไขม้นถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก สารที่ได้จากการเผาผลาญไขมันคือสารคีโตบอดีส์ (Keto bodies) ผลที่ตามมาคือความเบื่อหน่ายอาหาร ความอ้วนลดลงได้จากเหตุนี้เอง สูตรอาหารคีโตได้รับความนิยมมาก ทว่าอะไรที่มากเกินไป ขาดความสมดุลย่อมส่งผลเสียในระยะยาว จึงขอให้ระวัง
งานวิจัยจาก University of Bath อังกฤษ ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Reports Medicine เดือนสิงหาคม 2024 โดยศึกษาในผู้ใหญ่ที่แข็งแรง 53 คน ใช้เวลานาน 12 สัปดาห์ แบ่งผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มควบคุมโดยให้รับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลปานกลาง มีน้ำตาลต่ำ (น้อยกว่า 5% ของแคลอรีจากน้ำตาล) อีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารคีโตมีคาร์โบไฮเดรตต่ำน้อยกว่า 8% ของแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด เมื่อจบการศึกษาพบว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม กลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารคีโตมีระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม LDL ขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งเพิ่มระดับโปรตีน apoB ซึ่งก่อความเสี่ยงต่อการสะสมของคราบก้อนแข็งในหลอดเลือดแดง ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีคอเลสเตอรอลใน LDL ลดลง
อีกปัญหาหนึ่งของสูตรอาหารคีโตคือแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ได้แก่ กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในกลุ่มโปรไบโอติก มีจำนวนลดลง แบคทีเรียเหล่านี้มีประโยชน์มากโดยช่วยสร้างวิตามินบี ยับยั้งเชื้อก่อโรคและแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ได้ด้วย เมื่อแบคทีเรียที่ดีลดลง สุขภาพโดยรวมก็เป็นปัญหา โดยสรุปคือการบริโภคอาหารคีโตในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ใครที่ปฏิบัติกันอยู่ขอให้ระวังกันหน่อยก็เท่านั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #สูตรอาหารคีโต, #โรคอ้วน, #โปรไบโอติกส์
อ้างอิง Aaron Hengist, Russell G. Davies, Jean-Philippe Walhin, Jariya Buniam, Lucy H. Merrell, Lucy Rogers, Louise Bradshaw, Alfonso Moreno-Cabañas, Peter J. Rogers, Jeff M. Brunstrom, Leanne Hodson, Luc J.C. van Loon, Wiley Barton, Ciara O’Donovan, Fiona Crispie, Orla O’Sullivan, Paul D. Cotter, Kathryn Proctor, James A. Betts, Françoise Koumanov, Dylan Thompson, Javier T. Gonzalez. Ketogenic diet but not free-sugar restriction alters glucose tolerance, lipid metabolism, peripheral tissue phenotype, and gut microbiome: RCT. Cell Reports Medicine, 2024; 101667 DOI: 10.1016/j.xcrm.2024.101667