หนึ่งในอาหารลดน้ำหนักตัวที่ได้รับความนิยมกันมากคือ “อาหารโปรตีนสูง” (High protein diet) จะเรียกว่าผลิตภัณฑ์คงไม่ถูก เพราะที่นำมาใช้เป็นส่วนใหญ่คือแนวทางหรือข้อแนะนำ ไม่ได้อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ ลองไปดูกัน แนวทางการลดน้ำหนักที่พักหลังๆเห็นผลได้ดีคือแนวทาง “คาร์โบไฮเดรตต่ำ” หรือ โลว์คาร์บ เจ้าสำนักใหญ่คือคุณโรเบิร์ต แอตกินส์ ซึ่งแนะนำกันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 อยู่ยงคงกระพันมากว่าสี่สิบปียังแรงไม่ตก แนวคิดง่ายๆสำหรับสูตรอาหารกลุ่มโลว์คาร์บคือแนะนำให้บริโภคอาหารให้พลังงานตามที่ร่างกายต้องการโดยลดสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตลงเท่านั้น เอาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
ตามทฤษฎี การสะสมไขมันเป็นผลมาจากฮอร์โมนอินสุลินที่หลั่งออกจากตับอ่อนผ่านเข้าไปในเลือด เพื่อทำหน้าที่ช่วยให้เซลล์ดึงน้ำตาลในเลือดให้ไปช่วยสร้างพลังงานในเซลล์ หากน้ำตาลถูกเผาผลาญในเซลล์มากเกินไป พลังงานที่มากเกินจะถูกนำไปสะสมเป็นไกลโคเจนในตับและกล้ามเนื้อ อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นกรดไขมันนำไปสร้างเป็นไตรกลีเซอไรด์สะสมในเซลล์ไขมัน โดยปกติพลังงานจากแป้งประมาณ 40% ที่บริโภคเข้าไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน ดังนั้นการกินแป้งมากจึงทำให้อ้วนได้ง่ายๆ เรื่องนี้รู้ๆกันอยู่
วิธีการของแอตกินส์คือลดการกินคาร์โบไฮเดรตลง นอกจากปริมาณแป้งที่เปลี่ยนไปเป็นไขมันจะลดลงแล้ว อินสุลินยังหลั่งออกมาในเลือดน้อยลง กลไกของอินสุลินที่ไปเร่งการเปลี่ยนแป้งให้เป็นกรดไขมัน และเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงพร้อมๆกันไปด้วย นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดการกินแป้งมากจึงทำให้อ้วน และเหตุใดการลดคาร์โบไฮเดรตลงจึงช่วยลดน้ำหนักได้ เรื่องอย่างนี้นักโภชนาการแนวเก่าอาจไม่ยอมรับนัก ผมเคยเขียนเรื่องอินสุลินทำให้อ้วน นักโภชนาการบางท่านแสดงอาการไม่เห็นด้วย ทว่าสุดท้ายก็ต้องยอมรับเนื่องจากเห็นความสำเร็จของอาหารโลว์คาร์บ ที่มีแต่อินสุลินเท่านั้นที่เป็นคำอธิบาย เพียงแต่กลไกซับซ้อนไปกว่ากลไกที่เคยเข้าใจกันเท่านั้น
จุดหนึ่งที่นักโภชนาการจำนวนหนึ่งมักมองข้ามคือหากร่างกายไม่หลั่งอินสุลินหรือหลั่งน้อยลงทั้งๆที่ร่างกายได้รับอาหารตามปกติเพียงแต่คาร์โบไฮเดรตลดลง ร่างกายจะเข้าใจผิดว่ากำลังอยู่ในภาวะอดอาหาร ผลที่ตามมาคือร่างกายจะดึงเอาไขมันจากแหล่งสะสมออกมาใช้ ไขมันในร่างกายจึงลดลง เกิดการเปลี่ยนกรดไขมันในเลือดสร้างเป็นสารคีโตนบอดีส์ในตับ เพื่อนำไปเป็นอาหารให้สมอง สารคีโตนบอดีส์ที่เพิ่มขึ้นในเลือดกระทั่งไปคั่งอยู่ในสมองนี่เองที่มีส่วนทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักที่ลดลงจากการกินอาหารโลว์คาร์บส่วนหนึ่งมาจากการเบื่ออาหารนี่เอง ใครที่บอกว่าอาหารโลว์คาร์บกินมากอย่างไรก็ไม่อ้วน จึงเป็นความเข้าใจผิด ผลสำเร็จมาจากการกินไม่ลงเสียมากกว่า #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารโปรตีนสูง, #highproteindiet