ปลาทะเลกับสมดุลของแบคทีเรียโปรไบโตติกส์ในลำไส้ใหญ่

งานวิจัยทางการแพทย์ระยะหลังเน้นประโยชน์ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ค่อนข้างมาก แบคทีเรียกลุ่มนี้มีนับเป็นหมื่นชนิด มีประมาณ 38 ล้านล้านเซลล์สำหรับผู้ชายน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม โดยมีมากกว่าจำนวนเซลล์ร่างกายซึ่งมี 30 ล้านล้านเซลล์ (Plos Biology 2016) แบคทีเรียที่ว่านี้มีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพรวมเรียกว่า “โปรไบโอติกส์” (Probiotics) บางครั้งเรียกว่า Gut Microbiota แบคทีเรียเหล่านี้ต้องการอาหารกลุ่มใยอาหารพิเศษที่เรียกว่า “พรีไบโอติกส์” (Prebiotics) เมื่อย่อยใยอาหารกลุ่มนี้แล้วส่วนหนึ่งให้กรดไขมันขนาดสั้น (SCFAs) ดูดซึมผ่านผนังลำไส้ใหญ่เข้าไปสร้างประโยชน์ต่อร่างกาย นักวิจัยพบว่าโรคที่พบมากในปัจจุบันที่มักรวมเรียกว่าโรคเสื่อม (Degenerative diseases) ซึ่งมีหลายโรค ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ภาวะดื้อต่ออินสุลิน ภาวะอักเสบภายในเซลล์ และอีกหลายโรค เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต บริโภคอาหารขัดสีสูงที่ได้จากอุตสาหกรรมมากขึ้น ได้รับใยอาหารต่ำ น้ำตาลสูง เกลือสูง ไขมันสูง งานวิจัยระยะหลังพบว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของแบคทีเรีย ผลที่ตามมาคือโรคเสื่อมที่กล่าวถึงดังกล่าวแบคทีเรียกลุ่ม Gut microbiota แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่สองกลุ่มคือ Firmicutes และ Bacteroidetes เมื่อเกิดภาวะไม่สมดุลในสัดส่วนของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สองกลุ่มที่ว่านี้ ปัญหาที่ตามมาเรียกว่าภาวะ Dysbiosis ส่งผลให้เกิดอุบัติการณ์ของหลายโรคตามมา เช่น โรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินสุลิน ความสามารถในการซึมผ่านของลำไส้ผิดปกติ ภาวะอักเสบในลำไส้ (IBD) ภาวะอักเสบในเซลล์ ภาวะซึมเศร้า หากบริโภคปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้าสามทั้งชนิด EPA และ DHA เป็นประจำ พบว่า สัดส่วนของแบคทีเรียทั้งสองกลุ่มคือ Firmicutes/Bacteroidetes ที่อยู่ในภาวะ Dysbiosis ถูกฟื้นฟูขึ้นได้กระทั่งเข้าสู่ภาวะ Eubiosis การสร้างพิษหรือ Endotoxemia ถูกยับยั้ง ขณะที่การสร้างกรดไขมันขนาดสั้น (SCFAs) เพิ่มขึ้น ภาวะอักเสบภายในลดลง ผลที่ตามมาคือโรคต่างๆลดลงใครสนใจรายละเอียด ลองติดตามอ่านได้ในงานวิจัยของ Lara Costantini และคณะแห่งมหาวิทยาลัย Tuscia ประเทศอิตาลี ตีพิมพ์ในสารสาร Int J Mol Sci 2017 เดือนธันวาคม จะได้เข้าใจประโยชน์ของการบริโภคปลาทะเลและการได้รับกรดไขมันโอเมก้าสาม ที่นับวันยิ่งพบประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าให้ปริมาณกรดไขมันโอเมก้าสามที่ได้รับมีมากเกินพันมิลลิกรัมก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #omega3fattyacids, #gutmicrobiota

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *