นักวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโภชนาการชอบทำงานวิจัยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ติดตามผลโดยเก็บข้อมูลด้านสุขภาพกันไปนานๆ เรียกงานวิจัยลักษณะนี้ว่า Cohort study ผลการศึกษาจากงานวิจัยประเภทนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบกันภายในกลุ่มค่อนข้างแม่นยำถูกต้อง เชื่อถือได้ค่อนข้างสูง เราลองไปดูงานวิจัยว่าด้วยผลของการดื่มกาแฟกันดูดีกว่า จะได้รู้ว่าควรจะดื่มกาแฟกันต่อหรือเลิกดื่มกันดี นายแพทย์ปีเตอร์ คิสตเลอร์ (Peter M. Kistler) ศาสตราจารย์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาล Alfred และสถาบัน Baker Heart ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทำงานวิจัยในประชากรออสเตรเลียวัยผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายในเมืองเมลเบิร์น จำนวนกว่าครึ่งล้านคน ติดตามศึกษากันนานกว่าสิบปี แบ่งประชากรเป็นกลุ่มๆนำผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบกันเป็นเรื่องๆ ในงานวิจัยที่นำเสนอครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของการดื่มกาแฟกับอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แบ่งการศึกษาเป็นสองส่วนโดยส่วนแรกติดตามศึกษาประชากรจำนวน 382,535 คน ส่วนที่สองเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งมีประชากรจำนวน 34,279 คน ผลงานการวิเคราะห์ที่ได้นำเสนอเป็นเบื้องต้นในการประชุมวิชาการของ American College of Cardiology เดือนมีนาคม ค.ศ.2022 บทสรุปของงานวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วยมีความปลอดภัยไม่ก่อปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ จะว่ากาแฟเป็นคล้ายอาหารเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่ผิด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตัดปัจจัยอื่นๆออกไปยังพบอีกว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้อายุขัยยืนยาวขึ้นว่ากันอย่างนั้น ผลการวิเคราะห์ทำให้ทีมวิจัยแนะนำให้คนทั่วไปดื่มกาแฟทุกวันวันละ 1-3 ถ้วย หากจะดื่มมากกว่านั้น ทีมวิจัยไม่ยืนยันว่าจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจได้หรือไม่ คำถามมีอยู่ว่าเมล็ดกาแฟให้ประโยชน์ต่อหัวใจอย่างไร คนมักเข้าใจกันว่าผลดีของกาแฟมาจากปริมาณสารกาเฟอีน (caffeine) ที่พบมากในเมล็ดกาแฟ ทีมวิจัยให้ข้อมูลว่าอันที่จริง เมล็ดกาแฟมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากกว่า 100 ชนิด แต่ละชนิดให้ผลดีแตกต่างกันไป บางสารช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและลดการอักเสบ บางสารเพิ่มความไวในการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน บางตัวช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ยับยั้งการดูดซึมไขมันในลำไส้ บางตัวบล็อกตัวรับที่เกี่ยวข้องกับจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ จะบอกว่าประโยชน์ของกาแฟมาจากสารกาเฟอีนเพียงตัวเดียวจึงไม่ถูกต้องนัก #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กาแฟกับหัวใจ