วันนี้วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2020 เป็นวันแรกที่สหราชอาณาจักรอันประกอบด้วยอังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ ตัดขาดจากอียู (European Union) หรือสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งสหราชอาณาจักรเข้าไปร่วมตั้งแต่ ค.ศ.1973 หลังจากเพียรพยายามสมัครเป็นสมาชิกใน ค.ศ.1963 และ 1967 แต่ล้มเหลวจนกระทั่งผ่านไปสิบปีนั่นแหละจึงสำเร็จ เสียเวลาอยู่กับอียูนานเกือบครึ่งศตวรรษเสียดายกันหรือเปล่า เจอคนอังกฤษส่วนใหญ่บอกว่าไม่เสียใจหรือเสียดายทั้งยังโล่งอกกับการถอนตัวครั้งนี้ หลายคนบอกว่าไม่ควรเข้าไปร่วมตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ เกิดอะไรขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู
ผมใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปทั้งในเบลเยี่ยม เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์นานห้าปีระหว่าง ค.ศ.1985-1989 สัมผัสกับคนสหราชอาณาจักรที่ในที่นี้ขอเรียกว่าอังกฤษหลายครั้งหลายหน ในประสบการณ์และความรู้สึก บอกกันตามตรงว่าคนอังกฤษกับคนยุโรปแทบจะเข้ากันไม่ได้เลย ช่วงที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่โน่น คนยุโรปไม่ใคร่ชอบคนอังกฤษนัก คนอังกฤษเองรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าและเป็นชนกลุ่มเดียวกับคนทางอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและแคนาดามากกว่า ความรู้สึกเหินห่างเช่นนี้มีมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์แล้ว
ยุโรปกับอังกฤษเหินห่างกันมากขึ้นในยุคสมัยของหญิงเหล็กมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ของอังกฤษ ซึ่งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปีปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ค.ศ.1979 พ้นตำแหน่งตอนปลาย ค.ศ.1990 พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แธตเชอร์เป็นคนกล้าได้กล้าเสียกระทั่งกล่าวกันว่าเธอเป็นคนอกสามศอกคนเดียวในอังกฤษ เธอชนะสงครามยุคใหม่กับอาร์เจนติน่า ต่อรองเรื่องการคืนเกาะฮ่องกงกับเติ้งเสี่ยวผิง สร้างความเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่สำคัญคือเธอเป็นปฏิปักษ์กับยุโรปรุนแรงนั่นคือเหตุผลว่าเหตุใดอังกฤษจึงไม่เข้าร่วมวีซ่ารวมหรือเชงเกนและเงินยูโร
เคยมีคลิปของแธตเชอร์หลุดออกมาเรื่องที่เธอไม่อยากไปประชุมที่ปารีสด้วยเหตุผลว่าที่นั่นมีคนฝรั่งเศสมากไปหน่อย อีกครั้งเมื่อแธตเชอร์พูดสวนความเห็นของผู้นำยุโรปที่วิจารณ์อังกฤษไปในทางลบ เธอบอกว่าแม้อังกฤษจะมีปัญหาในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับยุโรป ทว่าเป็นเพราะอังกฤษมิใช่หรือที่ทำให้ยุโรปเป็นอิสระจากอำนาจของฝรั่งเศสยุคนโปเลียนและเยอรมนียุคฮิตเลอร์ อังกฤษสูญสิ้นทรัพย์สินมหาศาล สูญเสียชีวิตคนหนุ่มนับล้านเพื่อปกป้องยุโรป แธตเชอร์พูดเรื่องจริงที่คนยุโรปอาจทำใจยอมรับไม่ได้ กระแสต่อต้านแธตเชอร์และอังกฤษช่วงนั้นพุ่งขึ้นสูงจนรู้สึกเลยว่าอนาคตของอียูกับอังกฤษจบลงตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 แล้ว ทว่ายังสู้อุตส่าห์ประคับประคองทุลักทุเลมาได้จนเข้าปีแรกของทศวรรษที่ 2020 แล้วทุกอย่างก็จบ
ระหว่างแต่งงานอยู่กินกันมา ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องระหองระแหง ทะเลาะเบาะแว้งกันมาตลอด หย่าร้างกันครั้งนี้ ผมว่าทั้งสองฝ่ายจะรักและคิดถึงกันมากขึ้น อันที่จริงยุโรปขาดอังกฤษไม่ได้ และอังกฤษยิ่งไม่ควรขาดจากอียูเช่นกัน ผมเชื่อของผมอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #brexit