ประชุมผ่านจอภาพ (Virtual meeting) ต้องหาทางปรับปรุง

ตลอด พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นปีแรกหลังเหตุการณ์โรคระบาดโควิด ผมมีงานบรรยายระดับนานาชาติบ่อย ในหลายประเทศของยุโรปและตะวันออกกลาง ดินแดนห่างไกลจากประเทศไทยแท้ๆ ทางผู้จัดขอให้ผมบรรยายในสถานที่ (Actual meeting) ซึ่งได้อรรถรสกว่า ผมจึงต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ขณะที่การเชิญบรรยายในภูมิภาคอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศอยู่ใกล้กันแท้ๆ หลายงานใช้ระบบซูมโดยบรรยายหน้าจอภาพ (Virtual meeting) ต่างฝ่ายต่างอยู่ในสถานที่ของตนเอง บรรยากาศการประชุมแตกต่างกันลิบลับวานนี้จันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 ผมบรรยายแบบ Virtual meeting ในงาน International Conference on Contemporary Science and Clinical Pharmacy หรือ ICCSCP 2023 ซึ่งเป็นงานของมหาวิทยาลัย Andalas หรือ UNAND เมืองปาดัง เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย วิทยากรในงานเข้าร่วมแบบ Virtual ผมบรรยายกับกล้องโดยไม่สามารถมองเห็นปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ฟัง จอแสดงภาพของผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากปิดภาพปิดเสียง ถึงเวลา Q&A ช่วงถามตอบไม่มีคำถาม ผมจึงลากล้องและจอภาพไปได้ง่ายๆผมผ่านการประชุมมามากมาย ยุคก่อนเป็นการประชุมในห้องประชุม กระทั่งเกิดการระบาดไปทั่วโลกของโควิดนั่นแหละ การประชุมผ่านจอภาพจึงทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องพักค้างแรม ผู้จัดการประชุมประหยัดงบประมาณไปได้มาก สะดวกขนาดนี้จึงหลงเข้าใจเอาว่าต่อไปคงไม่จำเป็นต้องมีงานประชุมในห้องประชุมกันอีกแล้ว ทว่าเอาเข้าจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หมดการระบาดของโควิด เข้า พ.ศ.2566 ผมเดินทางบรรยายมากขึ้น ไต่ถามผู้จัดการประชุมจึงรับรู้ว่าการตอบรับการประชุมผ่านจอภาพไม่ให้ผลสัมฤทธิ์อย่างที่หวัง ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น งาน Thailand Halal Assembly ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพเดือนธันวาคมปีนี้จึงหันกลับมาจัดกันในสถานที่จริงกันอีกครั้งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Aalto ประเทศฟินแลนด์ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Occupational Health Psychology เดือนตุลาคม 2023 รายงานไว้น่าสนใจ ทีมวิจัยทำการศึกษาการประชุมแบบเวอร์ชวลเปรียบเทียบกับแบบแอคชวลได้ผลสรุปในเชิงจิตวิทยาว่า การประชุมแบบเวอร์ชวลผ่านจอภาพไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้ เจอะเจอการเลี่ยงประชุมด้วยการปล่อยจอภาพว่างกันบ่อย ผู้เข้าร่วมประชุมออกอาการง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่าย ขาดสมาธิ สมองขาดการกระตุ้น การตอบสนองของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นไปในลักษณะเฉื่อยชา ผู้วิจัยสรุปว่าหากผู้จัดการประชุมต้องการผลสัมฤทธิ์เชิงวิชาการ การประชุมแบบ Actual ให้ผลสัมฤทธิ์ดีกว่า หากต้องการจัดประชุมแบบ Virtual ผู้วิจัยแนะนำให้ผู้จัดประชุมแสวงหากิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุม ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างอยู่ ข้อสรุปกลายเป็นอย่างนั้น#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #virtualmeeting, #actualmeeting

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *