วันก่อนเห็นข่าวนายกรัฐมนตรีตกอกตกใจกับข่าวอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลง แปลกใจที่ท่านเพิ่งทราบ กังวลด้วยว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาด้วยการหาวิธีเพิ่มประชากร เพราะยังไม่เห็นประเทศไหนประสบความสำเร็จกับมาตรการลักษณะนี้ ค่านิยมของสังคมสมัยใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งค่าการเจริญพันธุ์ของประชากรในทางชีววิทยายังลดลงเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ การเพิ่มอัตราการเกิดเพื่อขยายประชากรจึงยากที่จะสำเร็จ อยากให้นายกรัฐมนตรีวิเคราะห์ให้ได้ก่อนว่าการลดลงของประชากรประเทศไทยเป็นวิกฤติหรือโอกาสกันแน่ หันกลับมาดูข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์กันสักหน่อยจะดีกว่า โลกต้น ค.ศ.2024 ประชากรโลกคือ 8.1 พันล้านคน เป็นคนไทย 71 ล้านคน มองย้อนกลับไป ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรขององค์การสหประชาชาติเคยทำนายไว้ว่าหากสตรีวัยเจริญพันธุ์มีบุตรโดยเฉลี่ยแค่ครึ่งคน ภายใน ค.ศ.2100 ประชากรในโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 16 พันล้านคน โดยภูมิภาคที่มีประชากรเพิ่มมากที่สุดคือละตินอเมริกา อัฟริกาและเอเชีย ประเทศกลุ่มนี้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง การเพิ่มประชากรจึงเป็นวิกฤติมิใช่โอกาส เมื่อหันมามองชาติพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกาเหนือ ประชากรในประเทศสองกลุ่มนี้กลับลดลง สอดคล้องกับพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีเอไอและโรบอตที่ส่งผลให้ความต้องการแรงงานลดลง ปัญหาการหดตัวของประชากรในประเทศกลุ่มหลังจึงกลับเป็นโอกาสสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของประเทศตนเอง หันมามองประเทศไทยอีกครั้ง การหดตัวของประชากรคือวิกฤติหรือโอกาสกันแน่ดังนั้นก่อนที่จะตกอกตกใจกันไปมากกว่านี้ หันมาวิเคราะห์เจาะลึกกันอีกด้านหนึ่งของเหรียญจะเห็นข้อเท็จจริงว่าอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงโดยตลอด ขณะที่ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง ประเทศอื่นในอาเซียนประสบปัญหาไม่ต่างกัน เพียงแต่ลดลงในอัตราที่ช้ากว่าประเทศไทยเท่านั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ตัวเลขคาดการณ์ประชากรโลกปี 2100 ที่เคยเข้าใจว่าจะสูงถึง 16 พันล้านคน ตัวเลขจะกลับตาลปัตรเป็นว่าประชากรโลกอาจเหลือเพียง 6.2 พันล้านคนโดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมืองควรเร่งดำเนินการจึงมิใช่การเพิ่มประชากรเพราะยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่ควรเร่งพัฒนาคุณภาพประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติ ยังเป็น active citizen ยาวนานที่สุดเพื่อสามารถจ่ายภาษีทางตรงและทางอ้อมโดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมมากนัก เน้นย้ำเรื่องการป้องกันตามแนวทาง Proactive prevention ดูแลเรื่องการใช้ชีวิตดีกว่าการใช้ยารักษาโรค หาทางขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางนี้จะดีกว่า #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ประชากรหดตัว