เซลล์มนุษย์ผู้ใหญ่ 10 ล้านจาก 37 ล้านล้านเซลล์ถึงอายุขัยในแต่ละวันจึงจำเป็นต้องถูกกำจัดทิ้ง เซลล์เหล่านี้ภายในเต็มไปเศษสิ่งสกปรก เมื่อถูกกำจัดร่างกายสามารถสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนได้ ทว่าในวัยสูงอายุประสิทธิภาพการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าเกิดได้น้อยลง จำเป็นต้องใช้ #วิธียืดอายุขัยเซลล์เก่า โดยทำความสะอาดเซลล์เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกทำลาย กระบวนการนี้เรียกว่า #Autophagy ซึ่งเร่งให้เกิดขึ้นได้ด้วยการอดอาหารอย่างสิ้นเชิงระยะเวลาหนึ่ง การค้นพบนี้ทำให้นายแพทย์ญี่ปุ่น Yoshinori Ohsamu ได้รับรางวัลโนเบล ค.ศ.2016 มาแล้ว นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดการอดอาหารจึงช่วยยืดอายุขัยได้
ค.ศ.2014 ดร.วอลเตอร์ ลองโก (Valter Longo) แห่งมหาวิทยาลัย USC พบว่าการอดอาหารนาน 72 ชั่วโมงช่วยให้ร่างกายกำจัดเซลล์เก่าสร้างเซลล์ใหม่ เกิดเม็ดเลือดขาวที่แข็งแรงช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ภายหลังลองโกพัฒนาสูตรอาหาร PreLon เลียนแบบการอดอาหารนาน 5 วัน สรุปคือ #การอดอาหารสิ้นเชิง นาน 3-5 วันช่วยยืดอายุขัย เพิ่มภูมิต้านทาน สร้างสุขภาพได้จริง คำถามคือ #การถือศีลอดแบบมุสลิม ซึ่งเป็นการอดอาหารช่วงสั้น (Fasting) จะให้ประโยชน์เช่นเดียวกับการอดอาหารอย่างสิ้นเชิง (Starvation) นาน 3 วันหรือไม่ นพ.พอ.แม็คซิโม เมสลอส (M. Maislos) แพทย์ทหารกองทัพบกอิสราเอลให้คำตอบว่าได้ แต่ด้วยเงื่อนไขว่าต้องอดอาหารแบบนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) โดยบริโภคแต่น้อยระหว่างถือศีลอด เพิ่มการออกกำลังกายและการทำสมาธิ การปฏิบัติรอมฎอน (Ramadan practices) จึงไม่ใช่เพียงอดอาหารเท่านั้น
ในเดือนรอมฎอน สิ่งที่นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ปฏิบัติคืออดอาหารและน้ำตลอดวัน กินอาหารสองมื้อโดยมื้อแรกก่อนเวลาแสงทองจับขอบฟ้า (อิมซาก) มื้อที่สองหลังดวงอาทิตย์ตกและก่อนแสงแดงหมดจากขอบฟ้า (มัฆริบ) ซึ่งช่วยให้ฮอร์โมนอินสุลินทำงานหลักคือเร่งการเผาผลาญสารอาหารให้เป็นพลังงานไม่นำไปสะสม ทั้งยังบริโภคแต่น้อยเพียงหนึ่งในสามของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน เสมือนรับประทานอาหารวันละหนึ่งมื้อ การละหมาดซึ่งเปรียบเสมือนการออกกำลังกาย ท่านนบีละหมาดทั้งวันไม่ต่ำกว่า 50 รอกะอัตในเดือนรอมฎอนยังเพิ่มเติมการละหมาดยามค่ำคืนอีกไม่ต่ำกว่า 11 รอกะอัต การละหมาดใช้พลังงาน 4.71 กิโลแคลอรีต่อรอกะอัตทำให้สูญเสียพลังงานไป 287 กิโลแคลอรีเทียบเท่ากับการงดอาหารหนึ่งมื้อ ในแต่ละวันท่านนบีจึงปฏิบัติรอมฎอนไม่ต่างจากการอดอาหารอย่างสิ้นเชิงเลย
ค.ศ.1993 Maislos ทำการวิจัยผลของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชนเผ่าเบดูอินแห่งทะเลทรายนาจาฟซึ่งปฏิบัติตัวได้ใกล้เคียงท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) พบว่าค่า HDL ในเลือดเพิ่มขึ้นถึง 30% ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หากปฏิบัติได้เช่นท่านนบีโดยลดอาหารลงอีกและเพิ่มการใช้แรงงานโดยละหมาดมากขึ้นและยาวนานขึ้นอาจช่วยเพิ่มอายุขัยพร้อมภูมิต้านทานโรค การละหมาดอย่างมีสมาธิ การอ่านอัลกุรอานเป็นคล้ายการทำสมาธิซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยด้านสุขภาพได้หลายประการ การปฏิบัติรอมฎอนอย่างท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) จึงสร้างเสริมสุขภาพได้ นักวิจัยเชื่อกันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน