คนอ้วนเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด วิธีวัดความอ้วนที่นิยมทำกันคือดูค่าบีเอ็มไอหรือดัชนีมวลกาย ซึ่งคำนวณได้จากน้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง หากค่าไม่เกิน 25 หมายถึงไม่อ้วน ดังนั้นแค่ชั่งน้ำหนักตัวกับวัดความสูงก็คำนวณค่าบีเอ็มไอได้แล้ว ค่าบีเอ็มไอจึงได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับการวัดค่าทางร่างกายอื่นๆ คำถามคือน้ำหนักตัวปกติหมายถึงไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจริงหรือเจออยู่บ่อยคือคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวนไม่น้อยมีน้ำหนักตัวปกติ คนเหล่านี้เมื่อตัดปัญหาอื่นออกไปทั้งเรื่องพันธุกรรมหรือโรคทางหัวใจอื่นๆ เหลือเพียงปัจจัยเดียวคือสัดส่วนของร่างกาย กลายเป็นว่าคนน้ำหนักตัวปกติยังเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีรายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2023 โดยศึกษาคนผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวปกติ ไม่อ้วนและไม่ผอมจำนวน 3,000 คน พบว่าคนเหล่านี้แม้มีน้ำหนักตัวปกติ ทว่ามีจำนวนสูงถึงหนึ่งสามที่มีสัดส่วนของไขมันในร่างกายเกิน 25% สำหรับผู้ชายและเกิน 30% สำหรับผู้หญิง หมายถึงว่าคนน้ำหนักตัวปกติเหล่านี้หากพิจารณาจากสัดส่วนของไขมันในร่างกายคนเหล่านี้กลายเป็นคนอ้วน ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ได้ลดลงเลยทีมวิจัยแนะนำให้คนปกติวัดสัดส่วนไขมันในร่างกายเพิ่มเติมไปด้วย ไม่ใช่แค่ชั่งน้ำหนักตัว การวัดสัดส่วนของไขมันในร่างกายมีหลายวิธี ปัจจุบันมีเครื่องชั่งน้ำหนักตัวบางชนิดบอกสัดส่วนไขมันในร่างกายได้ด้วยโดยผ่านทางเทคนิคอัลตร้าซาวด์หรือการใช้รังสี หรืออาจวัดสัดส่วนไขมันในร่างกายโดยใช้เครื่องมือของทางโรงพยาบาลหรือคลินิก หากสัดส่วนไขมันมากเกินไป วิธีลดไขมันที่ซ่อนอยู่ทำได้โดยการออกกำลังกายเช่นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือด้วยการเล่นเวทเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ลองไปทำกันดู #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #บีเอ็มไอ#สัดส่วนไขมันในร่างกาย