น้ำมันมะกอกพรหมจรรย์ (virgin olive oil) ได้มาจากการคั้นเนื้อมะกอกกระทั่งได้น้ำมะกอกปนออกมากับเนื้อกลายเป็นส่วนเละๆ จากนั้นจึงนำเนื้อผสมน้ำมะกอกไปปั่นให้น้ำแยกชั้นออกมา ทิ้งไว้สักพักจะเห็นน้ำมันลอยแยกออกมาจากส่วนของน้ำและกาก น้ำมันที่แยกออกมานี่เองที่เรียกว่าน้ำมันมะกอกเวอร์จิ้น ไม่มีการผ่านกระบวนการที่ใช้สารเคมีหรืออุณหภูมิร้อนหรือเย็นใดๆทั้งสิ้น เป็นน้ำมันมะกอกที่ได้จากผลมะกอกแท้ๆ ไม่ผ่านกระบวนการใดให้เป็นราคีเลย น้ำมันมะกอกพรหมจรรย์หากมีคุณภาพความสดต้องตรงตามมาตรฐานที่ทางองค์กรมะกอกโลกหรือสภาน้ำมันมะกอกนานาชาติ (International Olive Oil Council, IOOC) กำหนด ดีทั้งรสชาติ ดีทั้งสี ทั้งกลิ่น มีทั้งความใส ทางสภาจึงยินยอมให้เรียกน้ำมันมะกอกชนิดนั้นๆว่าเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น (extra virgin) น้ำมันเกรดนี้ราคาแพงที่สุดอยู่แล้ว
น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่ำหรือกรดไขมันโมโนที่มีสูงถึง 70-80% แทบจะหาน้ำมันชนิดไหนมีกรดไขมันชนิดนี้สูงขนาดนี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากนี้ยังมีสารไฟโตนิวเทรียนท์อีกหลายชนิดปนเข้ามาอีก เมื่อน้ำมันมะกอกพรหมจรรย์โด่งดังขึ้นมาทางด้านประโยชน์ต่อสุขภาพ พักหลังจึงเห็นสารพัดน้ำมันพยายามทำตัวให้เป็นน้ำมันพรหมจรรย์กับเขาบ้างไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่เรียกตนเองว่า virgin coconut oil ทั้งยังมีน้ำมันงา น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันอีฟนิงพริมโรส และอีกสารพัดชนิด
น้ำมันทั้งหลายที่สกัดโดยไม่ใช้สารเคมีไม่ผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์กลายเป็นน้ำมันพรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงตามที่กล่าวอ้างหรือเปล่าจำเป็นต้องใช้ข้อมูลวิจัยทางการแพทย์ช่วยสนับสนุน ในวันนี้แม้กระทั่งน้ำมันมะกอกเองยังมีประเด็นคำถามในเรื่องราคา ดังเช่น extra-virgin olive oil แม้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ราคาแพงเกินคุณค่าหรือไม่ ขณะที่น้ำมันมะพร้าว virgin coconut oil เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือเปล่ายังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบ ในเมื่อคุณภาพยังหาข้อสรุปไม่ได้ เรื่องราคาในเชิงการตลาดจึงยิ่งเป็นประเด็นที่ยังถกกันอยู่ เรื่องเช่นนี้เองจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรับรู้ #อาหารการกิน, #วิทยาศาสตร์