สารอาหารจำเป็นซึ่งหมายถึงสารในอาหารซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ในทางโภชนาการมีอยู่ประมาณ 45-50 ชนิด กรณีฟรุคโตสไม่ใช่สารอาหารจำเป็นเพราะร่างกายสร้างได้ โดยมีความสำคัญ ร่างกายสร้างเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมอง ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตการแพทย์อัสชุตซ์ (Anschutz Medical Campus) นำโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ริชาร์ด จอห์นสัน และทีมงานทำงานวิจัยเรื่องฟรุคโตสกับโรคสมองเสื่อมที่ผู้คนกลัวกันมากนั่นคืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ข้อมูลตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ทีมวิจัยกล่าวว่าในโลกอดีต มนุษย์พบอุปสรรคในการหาอาหารในภาวะแร้นแค้นอยู่บ่อย ส่งผลให้พัฒนาการของมนุษย์ยุคแรกใส่ใจกับการแสวงหาอาหาร อวัยวะที่ต้องทำงานหนักในยามหน้าสิ่วหน้าขวานคือสมองซึ่งใช้พลังงานจากน้ำตาลเพื่อให้สมองทำหน้าที่เสาะแสวงหาอาหาร ต้องสร้างสมาธิ ความเฉลียวฉลาด รวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดมุ่งไปในเรื่องการหาอาหาร หาไม่แล้วชีวิตของตนเองและลูกหลานอาจไปไม่รอด ขณะที่สมองส่วนสมาธิทำงานหนัก สมองส่วนอื่นจำเป็นต้องพักเพื่อสงวนพลังงานให้กับส่วนของการใช้สมาธิ ฟรุคโตสจึงเป็นสารอาหารสำคัญในพัฒนาการของมนุษย์ยุคเก่าที่เผชิญกับปัญหาความขาดแคลนอยู่บ่อยๆ ทว่านั่นเป็นยุคโบราณแตกต่างจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันโลกยุคใหม่ อาหารการกินล้นเหลือ ฟรุคโตสที่แต่เดิมได้มาจากผลไม้ที่หาได้ไม่ง่ายนัก ปัจจุบันโลกฟรุคโตสล้นเหลือทั้งจากน้ำตาลทราย น้ำตาลไซรัปฟรุคโตส ปริมาณฟรุคโตสที่มากเกินไป อาจมีผลทำให้สมองบางส่วนของมนุษย์ชะลอการทำหน้าที่เสมือนกลับไปอยู่ในสภาวะที่สมองต้องสร้างฟรุคโตสขึ้นมาเองเพื่อความอยู่รอด ในโลกปัจจุบัน กลไกร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกพัฒนาไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ ฟรุคโตสที่มากเกินไปอาจส่งผลให้สมองหลายส่วนทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นไม่ได้ นั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์โลกยุคใหม่เกิดภาวะสมองเสื่อมรวมถึงอัลไซเมอร์มากขึ้น เกิดการสร้างโปรตีนผิดปกติที่ทำลายเนื้อสมอง เนื้อหางานวิจัยอธิบายกลไกไว้น่าสนใจส่วนจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่เห็นทีต้องรอข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์เชิงลึกเพิ่มเติมขึ้น ในวันนี้ใครที่กลัวอัลไซเมอร์ ลดการบริโภคฟรุคโตสจากอาหารลงหน่อยก็น่าจะดี #driwnaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #สมองกับฟรุคโตส, #ฟรุคโตสกับอัลไซเมอร์