น้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสก่อโรคอ้วนอย่างไร ตอนที่ 3

ตอนที่ 3 นี้ขอตอบคำถามเรื่องฟรุคโตสซึ่งมีเข้ามาสักหน่อยซึ่งมีอยู่สองสามคำถาม เป็นต้นว่า ฟรุคโตสคือน้ำตาลผลไม้ หากฟรุคโตสมีปัญหา การรับประทานผลไม้ย่อมมีปัญหาด้วยถูกต้องหรือไม่ อีกคำถามหนึ่งคือไซรัปฟรุคโตสหรือ HFCS (High fructose corn syrup) กับน้ำตาลทราย (Table sugar) เป็นประเภทเดียวกันไหม หากไม่ใช่มันต่างกันอย่างไรขอเริ่มที่น้ำตาลทรายซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดีกันก่อน น้ำตาลทรายผลิตมาจากพืชผลทางการเกษตร ที่นิยมกันมากคืออ้อยกับบีทรูท น้ำตาลที่สกัดมาได้เรียกว่าซูโครส (Sucrose) ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวสองโมเลกุลคือกลูโคส (Glucose) กับฟรุคโตส (Fructose) จับอยู่ด้วยกัน นำน้ำตาลซูโครสนี้มาตกตะกอนเป็นผลึกผลิตเป็นน้ำตาลทราย ดังนั้นน้ำตาลทรายจึงมีกลูโคสและฟรุคโตสอย่างละ 50% ส่วนไซรัปฟรุคโตสทำจากแป้งข้าวโพดซึ่งเป็นแป้งนำมาย่อยได้กลูโคสจากนั้นใช้เอนไซม์เปลี่ยนกลูโคสไปเป็นฟรุคโตส ก่อนนำฟรุคโตสผสมกลับเข้าไปในกลูโคสในสัดส่วน 55% ต่อ 45% จะแปรเปลี่ยนสัดส่วนนี้ให้ต่างออกไปก็ได้ ไซรัปฟรุคโตสจึงเป็นของเหลวที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลสองชนิดโดยแต่ละชนิดแยกจากกันไม่ได้รวมกันเป็นซูโครสเหมือนน้ำตาลทราย ความที่มีฟรุคโตสมากกว่ากลูโคสเล็กน้อยจึงเรียกว่า High fructose corn syrup หรือไซรัปฟรุคโตส โดยมีน้ำปนอยู่ด้วย 24% ไซรัปฟรุคโตสเป็นของเหลวไม่ต้องผ่านความร้อนให้ยุ่งยากในการทำละลายจึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหารมากกว่าการใช้น้ำตาลทรายซึ่งเป็นเกล็ด ทั้งน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสเข้าสู่ร่างกายในรูปน้ำตาลเชิงเดี่ยว ถูกย่อยสลายเป็นพลังงานภายในเซลล์ในลักษณะเดียวกัน พลังงานเมื่อเหลือใช้ถูกนำไปเก็บสะสมในรูปไขมันเหมือนกัน น้ำตาลทรายกับไซรัปฟรุคโตสจึงแทบไม่ต่างกัน น้ำตาลทั้งสองชนิดคือน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสก่อโรคอ้วนเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณมาก ร่างกายสลายเป็นพลังงานแล้วเมื่อใช้ไม่ทันจึงต้องนำไปสะสมในรูปไขมันกระทั่งก่อให้เกิดโรคอ้วน ในกรณีน้ำตาลฟรุคโตสการย่อยสลายเกิดขึ้นในตับ ซึ่งต่างจากน้ำตาลกลูโคสที่เกิดขึ้นกับเซลล์ทั่วร่างกาย หากบริโภคน้ำตาลฟรุคโตสทั้งจากน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสมากเกินไป น้ำตาลเมื่อสลายในตับ พลังงานส่วนเกินถูกนำไปสะสมในรูปไขมัน โอกาสที่จะสร้างปัญหาไขมันในตับย่อมมีสูง ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลินจนเกิดปัญหาเบาหวานได้ง่ายๆ การบริโภคน้ำตาลสูงทั้งในรูปน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสปริมาณมากจึงเสี่ยงทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน อย่างที่รู้กัน ส่วนการบริโภคในรูปผลไม้ ปริมาณน้ำตาลฟรุคโตสที่เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณน้อย ทั้งยังมีใยอาหารขวางการดูดซึมอีก น้ำตาลฟรุคโตสจากผลไม้จึงไม่ก่อปัญหา ขออย่าได้กังวล #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #น้ำตาลทราย, #ไซรัปฟรุคโตส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *