ในร่างกายมีฮอร์โมนและสารกึ่งฮอร์โมนหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึม ตัวหลักมีอยู่ 4 ตัว และตัวย่อยๆอีกหลายตัว ตัวหลัก ได้แก่ อินสุลิน (Insulin) โอเร็คซินเอ (Orexin A) กรีลิน (Ghrelin) ตัวนี้เรียกกันง่ายๆว่าฮอร์โมนหิว (Hunger hormone) และเล็พติน (Leptin) ที่เรียกง่ายๆว่าฮอร์โมนอิ่ม (Satiety hormone) โดยบริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัสมีเซลล์ประสาทกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่คล้ายสวิทซ์เปิดปิดเมื่อร่างกายเกิดอาการหิวหรืออิ่ม จะเรียกว่าสวิทซ์หิวอิ่ม (Huger/Satiety switch) ก็ได้ เมื่อร่างกายย่อยสลายพลังงานกระทั่งระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ร่างกายออกอาการหิว กระเพาะสร้างฮอร์โมนหิวหรือกรีลินขึ้น กรีลินผ่านไปยังสมองและเข้าไปปิดสวิทซ์อิ่ม (Satiety switch) ในไฮโปธาลามัส ใครจะบอกว่าเข้าไปเปิดสวิทซ์หิวก็ไม่มีปัญหาเนื่องจากมันเป็นสวิทซ์สมมุติ ผลที่ตามมาคือร่างกายออกอาการหิว กระตุ้นให้ไฮโปธาลามัสหลั่งฮอร์โมนโอเร็คซินเอออกมา ฮอร์โมนตัวนี้ออกคำสั่งให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสะสมพลังงาน (conserve energy mode) ร่างกายออกอาการตื่นตัวนานเพื่อหาอาหารใส่ปากหลังจากกินอาหาร ตับอ่อนหลั่งอินสุลินเพื่อทำหน้าที่ดึงน้ำตาลเข้าเซลล์ เกิดกลไกการสร้างพลังงานเพื่อนำไปใช้ เมื่อกินถึงระดับหนึ่ง ร่างกายได้พลังงานมากพอแล้ว สมองสั่งอินสุลินปรับโหมดสู่การสะสมไขมันในเซลล์ไขมัน เมื่อไขมันสะสมมากขึ้น เซลล์ไขมันหลั่งฮอร์โมนอิ่มคือเล็พตินออกมา เล็พตินผ่านเข้าสู่สมองเพื่อเปิดสวิทซ์อิ่มในสมองหรือเพื่อปิดสวิทซ์หิวซึ่งเป็นสวิทซ์เดียวกันนั่นเอง ผลคือร่างกายหยุดการกินฉบับที่แล้วบอกไปว่าน้ำตาลฟรุคโตสเข้าไปก่อกวนสมองทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮฮร์โมนอิ่ม ทำให้สมองไม่ตอบสนองต่อการทำงานของเล็พติน ผลที่ตามมาคือร่างกายหยุดการกินไม่ได้ อันที่จริงฟรุคโตสไม่ได้สร้างปัญหาเพียงเท่านี้ โดยยังก่อปัญหาอื่นๆอีก โดยงานใหม่ทำการวิจัยโดย นพ.มาร์คัส ดาซิลวา กอนคาร์พ (Marcus DaSilva Goncalves) แห่งภาควิชาต่อมไร้ท่อ เบาหวานและเมแทบอลิซึม สถาบันการแพทย์นิวยอร์ค-เพรสไบเทอเรียน/เวลล์ คอร์เนลล์ (NewYork-Presbyterian/Weill Cornell Medical Center) รัฐนิวยอร์ค และทีมงาน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับโลก Nature วันที่ 18 สิงหาคม 2021 สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือน้ำตาลฟรุคโตสกระตุ้นให้เซลล์วิลไล (Villi) ในลำไส้เล็กที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารขยายความยาวมากขึ้น 25-40% เป็นผลให้ดูดซึมสารอาหารรวมถึงบรรดาน้ำตาลทั้งหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลูโคสหรือฟรุคโตส น้ำตาลทั้งสองตัวจึงทะลักเข้าสู่ร่างกายกระทั่งเข้าไปปั่นป่วนระบบการย่อยสลายและการใช้พลังงาน เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายเร็วย่อมสะสมได้เร็ว เกิดการเร่งการสะสมไขมันก่อให้เกิดความอ้วน นี่คือคำตอบว่าเหตุใดการบริโภคน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตสจึงก่อปัญหาโรคอ้วนให้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ฟรุคโตสกับโรคอ้วน