น้ำตาลก่อปัญหาสุขภาพโดยทำลายกลไกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่

โรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกปัจจุบันไม่ใช่โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโรคแต่เป็นโรคที่เรียกกันว่า “โรคไม่ติดต่อ” (Non-communicable diseases) หรือเอ็นซีดี (NCDs) ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต มะเร็ง ฯลฯ มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังคือสาเหตุสำคัญ อันได้แก่ โภชนาการขาดสมดุล การขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยก่อโรคที่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สนใจมากที่สุดคือประเด็นด้านโภชนาการที่นำไปสู่โรคอ้วน (Obesity) ซึ่งตามมาด้วยสารพัดโรคเอ็นซีดีไม่ว่า เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ในเมื่อโรคอ้วนคือสาเหตุสำคัญ ปัจจัยที่ที่นำไปสู่โรคอ้วน ได้แก่ การบริโภคน้ำตาลปริมาณสูงไม่ว่าจะในรูปน้ำตาลทราย (Table sugar) หรือฟรุคโตสไซรัป (High Fructose Corn Syrup) หรือ HFCS และการบริโภคไขมันสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันสัตว์และไขมันอิ่มตัว จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ทว่ายังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่ากลไกที่แท้จริงในร่างกายว่าเป็นอย่างไร เหตุนี้เองทีมงานวิจัยจากศูนย์การแพทย์เออร์วิง (Irving Medical Center) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในอัปเปอร์แมนฮัตตันของรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.อิเวย์โล อิวานอฟ (Ivaylo I. Ivanov) จึงทำการศึกษาในหนูทดลอง ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชื่อดัง Cell ปลายเดือนสิงหาคม 2022 นี้เองโดยศึกษาทั้งผลของการบริโภคน้ำตาลและไขมันต่อการเปลี่ยนแปลงเมแทบอลิซึมในร่างกายสิ่งที่ทีมวิจัยพบคือแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่าไมโครไบโอม ชนิดฟิลาเมนต์ (Filamentous Microbiome) เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานเมื่อร่างกายของหนูทดลองได้รับน้ำตาลปริมาณมากและบ่อยครั้ง แบคทีเรียกลุ่มนี้ลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบเป็นผลให้เซลล์ภูมิต้านทานในลำไส้ใหญ่กลุ่มที่เรียกว่า Th17 cells ลดจำนวนลง เหนี่ยวนำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเอ็นซีดีอื่นๆ เมื่อลดการบริโภคน้ำตาล ปริมาณ Th17 cells ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้น ผลที่ตามมาคือโรคเอ็นซีดีค่อยๆบรรเทาลง ทีมวิจัยสรุปว่า “ปัญหาที่ก่อโรคเอ็นซีดีมาจากน้ำตาลมากกว่าไขมัน” โดยเหนี่ยวนำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายบางกลุ่ม เช่น Th17 cells ลดลง กลไกการทำงานของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปกระทั่งก่อโรคอ้วนและเอ็นซีดี แม้ชนิดของแบคทีเรียกลุ่มที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์จะแตกต่างจากหนูทดลอง ทว่าทีมวิจัยยังมั่นใจที่จะสรุปว่ากลไกในการก่อโรคไม่แตกต่างกันนัก ทีมวิจัยจึงแนะนำให้ลดการบริโภคน้ำตาลลงหากอยากเลี่ยงปัญหาของโรคไม่ติดต่อ แนะนำง่ายๆแต่ทีมงานวิจัยมั่นใจว่าได้ผล #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โรคไม่ติดต่อ, #NCDs, #ลดบริโภคน้ำตาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *