นิวนอร์มอลหลังยุคโควิด-19 ที่สมควรเกิดในสังคมไทย

ในวันนี้ผู้คนพูดถึง “#นิวนอร์มอล” (New Normal) กันมาก โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในยุคและหลังยุคโควิด-19 คำนี้ทางราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้ว่าความปกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ ในที่นี้ขอใช้ทับศัพท์ว่านิวนอร์มอลก็แล้วกัน จะใช่การสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลล้างมือหรือการเว้นระยะห่างทางสังคมที่จะเป็นนิวนอร์มอลหรือไม่ คาดการณ์ได้ยากเนื่องจากไม่มีใครทำนายได้ว่าโรคโควิด-19 จะลากยาวในลักษณะที่เป็นอยู่ในวันนี้อีกยาวนานแค่ไหน กว่าจะค้นพบวัคซีน หรือยาหรือวิธีการรักษา อาจยาวนานเป็นปีหรือหลายปี เรื่องนี้ไม่มีใครกล้าฟันธง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะมีนิวนอร์มอลหลังยุคโควิด-19 นิวนอร์มอลนั้นเกิดขึ้นไม่ง่าย ดูที่การสวมหน้ากากอนามัยก็คงเห็น คนไทยทำสถิติสวมหน้ากากอนามัยมากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน แต่ในวันนี้อาการการ์ดตกของคนในสังคมเริ่มเห็นชัดขึ้นทุกขณะ ช่วงการปลดล็อคดาวน์บางส่วน ร้านอาหารสองสามร้านที่ผมเข้าไปใช้บริการทั้งร้านก๋วยเตี๋ยวมุสลิมชื่อดังย่านถนนเจ้าคุณทหาร ร้านโรตีชาย่านสวนหลวงสแควร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ รวมทั้งคนครัวแทบไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัย พนักงานเสิร์ฟพูดคุยกับลูกค้าคร่อมจานอาหารโดยเปิดปากจมูกในขณะที่ลูกค้าไม่แสดงปฏิกิริยาว่าตนอาจไม่ได้รับความปลอดภัย นี่คือตัวอย่างอาการการ์ดตกในสังคมไทยที่อาจนำไปสู่การระบาดระลอกสองที่เชื่อกันว่าจะรุนแรงกว่าเก่านิวนอร์มอลแม้ยังคาดการณ์ไม่ได้ ทว่าในเชิงความต้องการ ผมเห็นว่าควรจะมี อย่างเรื่องการประชุมออนไลน์หรือการทำงานจากบ้านที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 ได้สร้างทางเลือกใหม่ให้เกิดขึ้น ผมมีโอกาสบรรยายออนไลน์ในงาน Webinar (Web+Seminar) กับนักวิชาการจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งเตรียมการประชุม #Webinar กับนักวิชาการในยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยคุณภาพการประชุมไม่ต่างจากการประชุมออฟไลน์ในระบบปกติเลย ข้อดีคือมีการนำเสนอความเห็นมากขึ้น ขณะเดียวกันทีมงานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) เตรียมงาน #Webexpo (Web+Expo) หรืองานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ งานลักษณะนี้ประหยัดทั้งงบประมาณ ทั้งเวลาการเดินทาง สิ่งที่ต้องทำคือ #การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านธุรกิจซึ่ง ศวฮ. อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อ #SPHERE ใกล้สำเร็จแล้วนอกจากเรื่อง Webinar และ WebExpo ยังมีงานออนไลน์อื่นๆที่เชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นนิวนอร์มอลทั้งในหรือหลังยุคโควิด-19 นั่นคือการเติบโตของโลกดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจหรือวิชาการ การเรียนการสอนหรือการซื้อการขายผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งการให้บริการด้านซัพพลายเชนต่อเนื่องจากระบบออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทว่าปัญหาคือการเรียนรู้เรื่องระบบดิจิตอลที่เรียกว่า #DigitalLiteracy ยังเป็นไปอย่างจำกัด งานการถ่ายทอดความรู้นี้จะกลายเป็นอีกงานประจำหนึ่งของทีมงาน ศวฮ.ที่จะต้องออกไปให้ความรู้กับผู้คนกลุ่มต่างๆทั้งผู้สูงอายุ เยาวชน ชาวบ้าน งานทั้งหมดที่กล่าวถึงเหล่านี้สมควรจะเป็นนิวนอร์มอลอย่างยิ่ง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *