นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 10 กำหนดเวลาเข้าออกการถือศีลอด

การถือศีลอด หนึ่งในพลังละมุนของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเช้าของวันเมื่อเข้าเวลาฟะญัร (فَجر Fajr) แสงทองเริ่มจับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก นับไปอึดใจหนึ่งจึงเริ่มถือศีลอด ในเดือนรอมฎอนเรียกช่วงเวลาเริ่มถือศีลอดว่าอิมซาก (إمساك Imsak) หยุดการกินดื่ม การเสพย์กาม โดยระยะเวลาจากฟะญัรถึงอิมซากเท่ากับการอ่านอัลกุรอาน 50 วรรค หรือประมาณ 4 นาที ใครรับประทานอาหารสะฮูร (Sahur) ช่วงเวลานั้น ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้น การถือศีลอดของท่านนบีมีบ่อยครั้งที่ต่อเนื่องเกินหนึ่งวัน ทว่าท่านไม่แนะนำให้ผู้อื่นถือศีลอดต่อเนื่องเกินวันเช่นนั้น อ้างอิงจากรายงานของอิหม่ามบุคอรี (ค.ศ.810-870) หนังสือวอลุ่ม 3 เล่มที่ 31 หมายเลข 145 การกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอนใช้การดูจันทร์เสี้ยวหนึ่งค่ำ ขณะที่เวลาเริ่มและหยุดถือศีลอดในแต่ละวันใช้วิธีการดูแสงทองจับขอบฟ้าและการตกของดวงอาทิตย์ การกำหนดดังกล่าวเป็นผลให้มุสลิมยุคนั้นใส่ใจกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กระทั่งเกิดความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ เรื่องราวการสังเกตดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ประกอบเข้ากับพัฒนาการด้านการคำนวณจึงเป็นเรื่องน่าสนใจการคำนวณเวลาถือศีลอดยึดที่อัลกุรอานเป็นหลัก บทที่ 2 อัลบะเกาะเราะฮฺ วรรคที่ 187 ระบุว่าการกิน ดื่ม กระทำได้จนกระทั่งเห็นด้ายขาวแยกออกจากด้ายดำอันเนื่องมาจากแสงอรุณแรกหรือฟะญัรหรือฟัจริ (ٱلْفَجْرِ Fajr) โดยถือศีลอดจนเข้าเวลาลัยลฺ (ٱلَّيْلِ layl) หรือยามค่ำ ดังนั้นระยะเวลาฟะญัรหรืออัลฟะญัรและลัยลฺหรืออัลลัยลฺจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าในการกำหนดจริงกลับมีการตีความไปในหลายทัศนะ นิกายสุนหนี่ว่าไปทางหนึ่ง นิกายชีอะฮฺว่าไปอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้ตีความแตกต่างกัน ทว่าหลักการสำคัญยังคงอยู่นั่นคือการถือศีลอดพิจารณากันทางดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์พ้นขอบฟ้ายามเช้ามี 4 ช่วง ได้แก่ (1) ดวงอาทิตย์ถูกความโค้งของโลกบังไว้โดยทำมุม 18 องศา ท้องฟ้ามืดสนิท (astronomical dawn) (2) ทำมุม 12 องศา แสงทองเริ่มทาบขอบฟ้า (nautical dawn) ช่วงนี้คือฟะญัร เริ่มถือศีลอด (3) ทำมุม 6 องศา ฟ้าสว่างมากขึ้น เข้าเวลาซุบฮิหรือละหมาดแรกของวัน (civil dawn) (4) ดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ทำมุม 0 องศา (sunrise) เวลาละหมาดซุบฮิเสร็จสิ้นยามละศีลอดก็เป็นเช่นเดียวกัน โดยพิจารณาจากการตกของดวงอาทิตย์ สุนหนี่กำหนดเวลาละศีลอดที่ดวงอาทิตย์ตกทำมุม 0 องศากับขอบฟ้าทิศตะวันตก ขณะที่ชีอะอฺกำหนดช่วงเวลาละศีลอดเมื่อหมดแสงแดงบนท้องฟ้าหรือดวงอาทิตย์ลับไปแล้วโดยทำมุม 12 องศา (nautical twilight) อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ แม้แตกต่างกัน ทว่าสิ่งสำคัญคือทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติการถือศีลอดเดือนรอมฎอนไปด้วยกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กำหนดเวลาเข้าออกการถือศีลอด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *