คริสตศตวรรษที่ 20 ต่อศตวรรษที่ 21 ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของประชากรในโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาคือ “โรคอ้วน” (obesity) ซึ่งหมายถึงคนที่มีดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI) คำนวณจากการนำน้ำหนักตัวคิดเป็นกิโลกรัมหารด้วยพื้นที่ผิวร่างกายคิดเป็นตารางเมตรมีค่าเกินมาตรฐานที่แพทย์และนักโภชนาการกำหนดนั่นคือ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรซึ่งแสดงว่าท้วมหรืออ้วนแล้ว หากค่าเกิน 30 แสดงว่าเป็นโรคอ้วน ใครที่มีค่าสูงเกิน 40 หมายถึงอ้วนมากกระทั่งเสี่ยงต่อชีวิตโรคอ้วนก่อปัญหาตามมามากมาย ได้แก่ เบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อเข่าเสื่อม ภาวะอินสุลินสูง ความดันโลหิตสูง ไปจนกระทั่งปัญหามะเร็ง ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและของประเทศคือคนเป็นโรคอ้วน มีประสิทธิภาพในการทำงานหรือการผลิตลดลง ภูมิต้านทานต่ำลง ป่วยบ่อย สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจ สังคมสูญเสียแรงงานทั้งตัวคนอ้วนและญาติหรือคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วย ประเทศเสียเงินเสียทองไปกับการรักษาและดูแลสุขภาพของคนเหล่านั้น โรคอ้วนจึงกลายเป็นปัญหาระดับโลก เฉพาะคนอเมริกันมีปัญหาโรคอ้วนถึงสองในสามของประชากร ประเทศไทยเวลานี้เกิดปัญหาระดับน้องๆคนอเมริกัน ไม่ได้ดีกว่าสักเท่าไหร่เมื่อเกิดปัญหา วงการแพทย์และโภชนาการแสวงหาหนทางแก้ไข ปรากฏว่าแนวทางการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่องหรืออดเป็นช่วงที่เรียกว่า Intermittent fasting หรือ IF เรียกกันง่ายๆว่า “ไอเอฟ” กลายเป็นหนทางที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ปฏิบัติได้ง่าย ไม่ยุ่งยากนัก การอดอาหารแบบไอเอฟนี้เมื่อศึกษาลึกลงในรายละเอียดพบว่ามีวิธีการที่คล้ายคลึงกับการถือศีลอดของมุสลิมในเดือนรอมฎอน นั่นคืออดอาหารอย่างสิ้นเชิงในช่วงเวลากลางวัน อีกทั้งยังมีข้อแนะนำให้ปฏิบัติไอเอฟสัปดาห์ละสองวันซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ถือปฏิบัติเป็นปกติในทุกเดือน ไอเอฟทำกันอย่างไรไว้อธิบายรวบยอดในภายหลังการถือศีลอดตามแนวทางสุนนะฮฺหรือตามแนวทางท่านนบีแตกต่างจากไอเอฟอยู่สองสามประการคือไอเอฟนิยมนับช่วงเวลานอนพักผ่อนเป็นช่วงเวลาของการอดอาหารด้วย ช่วงเวลาที่กินอาหารปกติ อิสลามแนะนำให้กินเหมือนเดิม ขณะที่ไอเอฟให้ลดปริมาณอาหารลงเหลือหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ของปริมาณที่กินปกติ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนไม่บังคับให้ลดอาหาร อย่างไรก็ตาม กรณีท่านนบีในการถือศีลอดนอกเดือนรอมฎอน ท่านถือศีลอดสองวันคือวันจันทร์และวันพฤหัสบดี กลุ่มไอเอฟถือปฏิบัติตามแนวทางนี้เช่นกันโดยเรียกว่า 5:2 diet หนึ่งสัปดาห์อดอาหารสองวัน โดยในวันที่อดอาหารมีการลดปริมาณอาหารลงเหลือเพียงหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่อย่างที่บอก ซึ่งท่านนบีลดอาหารลงในปริมาณนั้นเช่นเดียวกัน นักวิชาการด้านโภชนาการบางสำนักจึงเรียกไอเอฟว่าสุนนะฮฺ (sunnah) หรือตามแบบอย่างท่านนบี #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การถือศีลอด