มีพลังสองแบบที่ได้รับการกล่าวขานบ่อยครั้งในระยะหลังคือ “พลังแข็งหรืออำนาจแข็ง” (hard power) กับ “พลังละมุนหรืออำนาจละมุน” (soft power) ส่วนใหญ่เป็นการอ้างอิงกันในบริบททางการเมือง พลังแข็งอย่างเช่น พลังทางทหาร พลังทางเศรษฐกิจ เป็นพลังหรืออำนาจในเชิงรูปธรรม สัมผัสได้ ใช้ในการกดดันผู้อื่นหรือประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนต้องการ ขณะที่พลังละมุนหรืออำนาจละมุนบางครั้งเรียกว่าพลังนุ่ม เป็นพลังในเชิงนามธรรม สัมผัสไม่ได้ แต่รู้สึกได้ ทำให้เกิดความนิยมชมชอบโดยไม่รู้สึกว่าถูกบีบบังคับ ในกรณีอิสลาม แนวทางการดำเนินชีวิตหรือสุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) คือพลังละมุนที่ได้รับการกล่าวขานอยู่บ่อยสุนนะฮฺหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) ที่ได้รับความนิยมคือการถือศีลอด (fasting) ซึ่งหมายถึงการงดเว้นการกินการดื่มหรืออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาเกิน 10 ชั่วโมงโดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่าถือศีลอดเริ่มใช้ครั้งแรกในหมู่มุสลิมประเทศไทยโดยอาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ นักวิชาการศาสนาอิสลามในอดีต ขณะที่ทางศาสนาคริสต์นิยมใช้คำว่าการถืออดอาหารมากกว่า การถือศีลอดก็ดี การถืออดอาหารก็ดีแตกต่างจากคำว่าการขาดอาหาร อดอยาก (starving) อันเป็นภาวะต่อเนื่องจากการอดอาหารเป็นเวลานานกระทั่งร่างกายขาดพลังงาน และสารอาหารก่อผลร้ายต่อสุขภาพ การถือศีลอดและการถืออดอาหารจึงเป็นคำในเชิงบวกท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) ปฏิบัติถือศีลอดเดือนรอมฎอนมาตั้งแต่ก่อนเป็นนบีใน ค.ศ.610 โดยเริ่มก่อนหน้านั้น 5 ปี ท่านถือปฏิบัติตะฮันนุช (تحنّث Tahannuth) ตามประเพณีเก่าของชนอาหรับที่หมายถึงการขับไล่บาปออกจากตนเอง ซึ่งประกอบด้วยสามส่วนคือ ปลีกวิเวก ทำสมาธิ และผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺในเมืองมักกะฮฺ ในส่วนการทำสมาธิ ทำโดยอดอาหารอย่างสิ้นเชิงตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ฟัจรฺหรือแสงทองจับท้องฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ยามค่ำคืนมีการบริกรรม ฝึกจิต จนถึงยามดึกสงัดโดยอยู่ในท่านั่งและท่ายืน ค.ศ.610 เมื่อขึ้นเป็นนบี ท่านยังคงถือศีลอดทุกเดือนรอมฎอนแม้มิใช่ข้อบังคับ กระทั่ง ค.ศ.624 นั่นแหละการถือศีลอดจึงเป็นข้อกำหนดในอิสลาม ท่านนบีมิได้ถือศีลอดเพียง 30 วันในเดือนรอมฎอนตามข้อบังคับเท่านั้น ท่านยังถือศีลอดแบบไม่บังคับหรือแบบอาสาตลอดทั้งปี เช่น ถือศีลอดเกือบ 30 วันในเดือนชะอฺบานหรือเดือนที่แปด ถือศีลอดไม่น้อยกว่า 8 วันในเดือนอื่น ดังเช่น 2 วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นวันจันทร์และพฤหัสบดี โดยท่านแนะนำให้ผู้อื่นถือเพียง 3 วันต่อเดือน ได้แก่ วันขึ้น 13, 14, 15 ค่ำของเดือนที่เรียกว่า “อัลอัยยามอัลบีฎ” (الأيام البيض) หรือวันสีขาว และถือศีลอดพิเศษอีก 3 วันในหนึ่งปี ได้แก่ 2 วันในเดือนที่ 1 (วันอาซูรออฺและวันตาซูอาอฺ) และ 1 วันในเดือนที่ 12 (วันอะรอฟะฮฺ) มีมุสลิมมากมายที่ถือปฏิบัติตามท่านนบี การถือศีลอดจึงนับเป็นพลังละมุนของท่านนบีอย่างแท้จริง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การถือศีลอดพลังละมุนแห่งอิสลาม