นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 30 ปราการอันแข็งแกร่งของอิสลาม

ฆอดีญะฮฺ บินติฆูวัยลิด ร.ฎ. (خديجة بنت خويلد) ภรรยาคนแรกของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีอายุมากกว่าท่านนบี 15 ปี ทั้งคู่แต่งงานกันใน ค.ศ.595 เมื่อท่านนบีอายุ 25 ปี พระนางอายุ 40 ปี จนกระทั่งเธออายุได้ 65 ปีจึงกลับไปสู่อัลลอฮฺเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.619 ในระหว่างการอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยานาน 25 ปี ท่านนบีมีพระนางฆอดียะฮฺเคียงข้างอยู่คนเดียวโดยไม่มีหญิงอื่น ทั้งสองฝ่ายให้เกียรติต่อกันทั้งที่สังคมเวลานั้นฝ่ายชายเป็นใหญ่ นิยมมีภรรยาหลายคน กรณีของท่านหญิงฆอดีญะฮฺแสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นั่นคือการให้เกียรติต่อภรรยาและต่อสตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลิกภาพอันโดดเด่นของท่านนบีหากนับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์อิสลามในยุคสมัยของท่านนบี ท่านหญิงฆอดีญะฮฺย่อมเป็นมุสลิมคนที่สองและเป็นสตรีมุสลิมคนแรกอย่างปฏิเสธไม่ได้ ใน ค.ศ.610 เมื่อท่านนบีได้รับโองการแรกจากประสบการณ์ในถ้ำหิรออฺนอกเมืองมักกะฮฺที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ท่านนบีอย่างมาก บุคคลแรกที่ท่านนบีปรึกษาคือพระนางฆอดีญะฮฺ ซึ่งนอกจากจะปลอบใจท่านนบีมูฮัมหมัด เธอยังเป็นบุคคลแรกที่เปลี่ยนมารับอิสลาม ทำตนเป็นคนสนิทของท่านนบีไม่เปลี่ยนแปลงอีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนอิสลามคนสำคัญทั้งด้านจิตใจและกำลังทรัพย์กระทั่งฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งของทั้งท่านนบีและพระนางร่อยหรอลงมากตลอดระยะเวลาในมักกะฮฺที่ท่านนบีทำการเผยแผ่อิสลามภายหลังการจากไปของพระนางฆอดียะฮฺใน ค.ศ.619 ไม่นานนับจากนั้นคือการจากไปของผู้สนับสนุนอิสลามคนสำคัญอีกคนหนึ่งนั่นคืออบูฎอลิบ ลุงของท่านนบี กระทั่งสิบปีหลังจากนั้นท่านนบีจึงแต่งงานกับหญิงอื่นอีกหลายคน ส่วนใหญ่เป็นแม่ม่ายที่สูญเสียสามีในสงครามเพื่อปกป้องอิสลาม หรือด้วยสาเหตุอื่น แม้กระทั่งแต่งงานกับภรรยาของศัตรูด้วยเหตุผลทางศีลธรรมหรือเพื่อสานสัมพันธ์ทางการเมืองตามประเพณีนิยมในยุคนั้น มีเพียงคนเดียวที่เป็นหญิงสาวไม่ผ่านการแต่งงานมาก่อนนั่นคือพระนางอาอีซะฮฺ ร.ฎ. (عائشة بنت أبي بكر) ธิดาของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) เพื่อนของท่านนบีไซยิด อาลีอัสการ์ รัซวี (Sayyid Ali Asghar Razwy) นักประวัติศาสตร์ผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ A Restatement of The History of Islam and Muslims เขียนไว้น่าสนใจว่าความอ่อนน้อมถ่อมตน บุคลิกภาพอันงามสง่า ความเมตตาอย่างล้นเหลือต่อผู้อื่นของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นผลให้คนทั่วไปต่างให้ความรักใคร่ เคารพนับถือท่าน นำไปสู่ความรักและความเข้าใจต่ออิสลาม ในทางการเมืองยุคใหม่ ผู้ประสงค์สร้างความเกลียดชังต่ออิสลาม (Islamophobia) จึงมักเริ่มต้นด้วยการด้อยค่าท่านนบีด้วยข้อมูลบิดเบือนต่างๆ ด้วยตระหนักว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) คือปราการอันแข็งแกร่งของอิสลาม หากต้องการทำลายอิสลามสมควรเริ่มที่ท่านนบี เข้าใจกันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นบีมุฮัมมัดพลังละมุนแห่งอิสลาม, #Islamophobia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *