ดังได้กล่าวมาก่อนว่าในสังคมอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมอาหรับทะเลทรายก่อนการมาของอิสลาม คุณค่าของสตรีและเด็กเป็นเพียงทรัพย์สินของสามีและบิดา ชาวอาหรับยุคเก่าฝังทารกเพศหญิงทั้งเป็นในยามครอบครัวประสบความยากเข็ญ ในงานประจำปี สตรีถูกสามีบังคับให้เปลือยกายร่ายรำเพื่อบูชาวิหารกะอฺบะฮฺ สตรียุคเก่าเป็นเพียงวัตถุแห่งความสุขทางเพศ เป็นสิ่งล่อแหลมที่นำความเลวร้ายมาสู่ครอบครัวและสังคม สตรีจึงถูกครอบงำด้วยบาป ในขณะที่สิ่งครอบงำฝ่ายชายคือคุณธรรมและความสูงส่ง ความอยุติธรรมในสังคมเก่ามีมากมายถึงเพียงนี้ในสังคมอิสลาม สตรีไม่ถือเป็น “เครื่องมือของปีศาจ” ทว่ากลับเป็นป้อมปราการที่ต่อต้านความชั่วร้าย โดยสตรีที่ดีจากการแต่งงานจะช่วยรักษาฝ่ายชายให้อยู่ในวิถีแห่งความถูกต้อง การแต่งงานในวิถีอิสลามจึงเป็นความงดงาม มองกลับไปในสังคมเดิม สตรีมักถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ท่านนบีต้องการหยุดยั้งสิ่งเหล่านั้น ท่านตักเตือนชายมุสลิมให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺโดยให้ความเคารพต่อสตรี การมาของอิสลามจึงเป็นเหตุให้ความเลวร้ายต่อสตรีในสังคมเดิมถูกท้าทาย ซึ่งคนในสังคมเดิมยอมรับไม่ได้ ผลที่ตามมาคือท่านนบีกลายเป็นเป้าหมายหลักของการปองร้าย ทว่าด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ สุดท้ายท่านสามารถเอาชนะความอยุติธรรมเหล่านั้นไปได้ภายหลังชัยชนะของอิสลาม ในพิธีฮัจญฺครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่านนบี ณ ทุ่งอะรอฟะฮฺ ต่อหน้าผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนหนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันคน ท่านนบีได้บรรยายธรรมที่มีชื่อเสียง เน้นเรื่องการให้ความเคารพและเมตตาต่อสตรีโดยกล่าวว่า ในอิสลาม สตรีมีบุคลิกที่เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เธอสามารถทำสัญญาหรือพินัยกรรมในนามของเธอเอง มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะมารดา ภริยา พี่สาว น้องสาว และบุตรสาว เธอมีอิสระเต็มที่ที่จะเลือกสามี สังคมนอกรีตในยุคก่อนอิสลามที่มีอคติต่อสตรีและเด็กหญิงถึงขนาดจับฝังทั้งเป็น ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) คัดค้านการปฏิบัติเช่นนั้น ท่านแสดงให้สังคมมุสลิมเห็นว่าการดูแลบุตรหญิงคือเกราะป้องกันไฟนรกที่ดีเลิศสำหรับบิดาความหายนะที่เลวร้ายที่สุดสำหรับสตรีในสังคมเก่าคือเมื่อสามีของเธอเสียชีวิต ในฐานะหญิงหม้าย ความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตรตกอยู่กับเธอ ความยากลำบากของการเป็นหม้ายจึงเป็นสิ่งที่เกินคำบรรยาย หลังสงครามอูฮุด ค.ศ.625 นักรบมุสลิมจำนวนมากเสียชีวิต ทิ้งหญิงหม้ายและบุตรธิดาไว้โดยไม่มีผู้ปกป้อง ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ด้วยคำสั่งจากคัมภีร์อัลกุรอ่าน อัลนิซาอฺ 4:3 อิสลามแม้สนับสนุนการมีภรรยาคนเดียวทว่าอนุญาตให้ฝ่ายชายมีภรรยาได้ไม่เกินสี่คนด้วยเงื่อนไขว่าต้องปฏิบัติต่อภรรยาเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมกัน คำอนุญาตนี้จึงมาจากความเมตตาต่อหญิงหม้าย ครอบคลุมถึงการจัดการตัณหาราคะ ในสังคมยุคใหม่ ผู้ที่วิพากษ์สังคมมุสลิมในประเด็นนี้จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในบริบทที่อยู่เบื้องหลังการอนุญาตเหล่านั้นให้ถูกต้อง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นบีมุฮัมมัดพลังละมุนแห่งอิสลาม, #ความเท่าเทียมของสตรีในอิสลาม