ต้นคริสตศตวรรษที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อิสลามถือกำเนิดขึ้น ประชากรโลกเวลานั้นมีประมาณ 200 ล้านคน คาดกันว่าแถบตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือมีประชากรรวม 20 ล้านคน โดยแถบเลแวนต์หรือซีเรียมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน อัฟริกาเหนือแถบอียิปต์มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน แถบเปอร์เซีย อิรักมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ประชากรในทะเลทรายอาระเบียกลับเบาบางอย่างยิ่ง นครมักกะฮฺเวลานั้นแม้เป็นชุมทางทางการค้ากลับมีประชากรเพียง 500 คน ก่อนการกำเนิดอิสลามใน ค.ศ.610 นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ถือศีลอดแนวทางเก่าที่เรียกว่าตะฮันนุช โดยมีมุสลิมรุ่นแรกจำนวนไม่มากนักที่ถือศีลอดตามท่านนบี กระทั่ง ค.ศ.624 เมื่อมุสลิมหนีภัยจากมักกะฮฺไปสู่เมืองยัธริบหรือมะดีนะฮฺแล้วนั่นแหละ การถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน รวมถึงแนวทางการถือศีลอดที่ถูกต้องจึงถูกบัญญัติขึ้นในคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีการกำหนดช่วงเวลาถือศีลอดในแต่ละวันระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:187ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นผู้ที่รักการถือศีลอดอย่างยิ่ง ท่านไม่เพียงถือศีลอด 29-30 วันในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นข้อกำหนดในอิสลาม ท่านยังถือศีลอดชนิดอาสาสมัครอยู่บ่อยครั้งในเดือนอื่น การถือศีลอดของท่านที่มีรายงานชัดเจน เป็นต้นว่า วันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยการถือศีลอดสองวันในหนึ่งสัปดาห์เช่นนี้นำไปสู่แนวทางการอดอาหารที่เรียกว่า 5:2 Diet ที่นิยมปฏิบัติกันในระยะหลัง อันนับเป็นการอดอาหารตามแนวทางสุนนะฮฺนอกจากนี้ท่านนบียังแนะนำการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล หรือเดือนที่สิบตามปฏิทินอาหรับ การถือศีลอดวันขาวหรือวันขึ้น 13, 14, 15 ค่ำของทุกเดือน (ایّام البیض อัยยาม อัลบีฏ) การถือศีลอดในวันอะรอฟะฮฺ หรือวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮฺหรือเดือนที่ 12 ท่านนบีถือศีลอดบ่อยครั้งในเดือนรอยับและชะอฺบานหรือเดือนที่เจ็ดและแปดตามปฏิทินอาหรับ อีกทั้ง 9 วันแรกในเดือนซุลฮิจญะฮฺ นอกจากนี้ท่านนบียังแนะนำให้ถือศีลอดในวันที่ 9 และ 10 เดือนมุฮัรรอมซึ่งเป็นเดือนที่หนึ่งตามปฏิทินอาหรับที่เรียกว่าวันตาชูอาและวันอะชูรอท่านนบีไม่แนะนำการถือศีลอดโดยไม่พักเกินหนึ่งวัน ไม่แนะนำการอดอาหารต่อเนื่องหลายวัน นอกจากนี้ในอิสลามยังห้ามการถือศีลอดในบางวัน เป็นต้นว่า วันตรุษสำคัญสองวัน ได้แก่ วันตรุษอิดิลฟิตริ วันที่ 1 เดือนเชาวาล ฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน วันตรุษอิดิลอัฎฮา วันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ฉลองการทำพิธีฮัจญฺ วันที่ 11, 12, 13 เดือนซุลฮิจญะฮฺที่เรียกว่าวันตัชรีกซึ่งเป็นวันสิ้นสุดพิธีฮัจญฺ ตามประเพณีโบราณนับเป็นวันตากเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดพลีและการเตรียมตัวเดินทางจากมักกะฮฺกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ท่านนบียังไม่แนะนำการถือศีลอดในวันศุกร์ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นบีมุฮัมมัดพลังละมุนแห่งอิสลาม, #วันถือศีลอดและวันห้าม