คนยุคใหม่นอกจากแต่งงานน้อยลง มีครอบครัวช้าลง มีลูกช้าลงและน้อยลงแล้ว ยังร่นระยะเวลาการเลี้ยงดูทารกด้วยนมแม่ให้สั้นลง เร่งเวลาให้ทารกเสริมอาหารกระชั้นขึ้น ทารกอดนมเร็วขึ้น พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เช่นนี้ส่งผลอย่างไรต่อเด็กรุ่นใหม่ มีงานศึกษาวิจัยประเด็นด้านนี้ค่อนข้างน้อย ทีมวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยในสวีเดนจึงนำข้อมูลวิจัยทางด้านนี้มานำเสนอ งานวิจัยครั้งนี้ดำเนินการโดยทีมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของสองมหาวิทยาลัยในสวีเดนคือ Uppsala University และ Sophiahemmet University ตีพิมพ์ในวารสาร International Breastfeeding Journal ฉบับเดือนมกราคม 2023 มีมารดาของทารกจำนวน 1,251 คนจากทั่วประเทศสวีเดนเข้าร่วม ทารกที่เลือกให้เข้าศึกษาครั้งนี้ 52% มารดาให้ทารกดื่มนมตนเองกระทั่งอายุหกเดือน โดยเสริมอาหารทารกช้าลง ขณะที่ทารก 48% ได้รับอาหารเสริมเมื่ออายุสี่เดือนซึ่งในสวีเดนแม่ยุคใหม่เกือบ 90% มีค่านิยมเช่นนี้ อันเป็นผลมาจากอาหารเสริมทารกมีจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์หลากหลายขึ้น กล่าวอ้างว่าคุณค่าทางโภชนาการดีขึ้น งานการวิจัยในสวีเดนครั้งนี้เป็นผลมาจากหน่วยงานหลักทางด้านสุขภาพให้ข้อแนะนำการเลี้ยงทารกแตกต่างกัน องค์กรด้านอาหารแห่งชาติสวีเดน (the Swedish National Food Agency) แนะนำว่ามารดาควรเสริมอาหารแก่ทารกนับแต่อายุเข้าสี่เดือน โดยค่อยๆป้อนอาหารแข็งหรือเหลวเพื่อฝึกให้ทารกเริ่มรับรู้รสชาติอาหาร เพื่อให้ทารกชินกับอาหารเสริมและหยุดดื่มนมมารดา ทว่าองค์การอนามัยโลก (The World Health Organisation หรือ WHO) กลับแนะนำให้มารดาเลี้ยงดูบุตรด้วยนมตนเองนานหกเดือนก่อนฝึกให้ทารกรับรู้รสชาติอาหารเสริม ทั้งยังแนะนำด้วยว่าแม้เริ่มเสริมอาหารทารกแล้วยังควรให้ทารกดื่มนมตนเองไปจนกระทั่งอายุสองขวบจึงหยุด คำแนะนำแตกต่างกันอย่างนั้น ผลการศึกษาสรุปว่ายิ่งทารกได้รับการฝึกให้เสริมอาหารเร็วขึ้น ทารกจะอดนมมารดาเร็วและหันไปหาอาหารเสริมโดยไม่หันกลับมาดื่มนมมารดาอีก การรับรู้รสอาหารเสริมเร็วเกินไปส่งผลให้ทารกส่วนใหญ่ในสวีเดนหยุดนมมารดาเร็ว อย่างไรก็ตาม หากฝึกให้เริ่มรับรู้รสชาติอาหารเสริมช้าลง อย่างเช่นให้ดื่มนมมารดาอย่างเดียวนานหกเดือน ทารกจะชินกับการดื่มนมมารดาร่วมไปกับการเสริมอาหาร ทีมวิจัยยังกล่าวถึงข้อดีของการดื่มนมมารดานานว่าเมื่อทารกเติบโตขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและอีกหลายโรคย่อมน้อยลง ทั้งลดความเสี่ยงต่อการขาดอาหารกรณีที่ประเทศเกิดภัยพิบัติหรือสงคราม เนื่องจากทารกไม่ปฏิเสธการดื่มนมมารดาซึ่งสถานการณ์เช่นนั้น นมมารดาอาจเป็นแหล่งอาหารเดียวสำหรับทารก ต้องให้ความสำคัญกันมากหน่อย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การดื่มนมมารดาถึงอายุสองขวบ