ถือศีลอดอาหารแบบอิสลาม (Islamic Fasting) ช่วยพัฒนาเซลล์สมองและยืดอายุ

การอดอาหารช่วงเวลาที่ไม่นานนักแบบที่ทำกันในศาสนาอิสลามสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพดูเหมือนวันนี้ไม่มีใครไม่รู้ ถึงขนาดโลกตะวันตกนำไปดัดแปลงเป็นโปรแกรมสุขภาพที่กำลังฮิตมาก โลกตะวันตกเรียกการอดอาหารแบบอิสลามว่าการอดอาหารอย่างไม่ต่อเนื่องหรือ Intermittent Fasting มีคำย่อว่า IF ที่แนะนำกันมากในโลกตะวันตกมีอยู่สองวิธี ได้แก่ (1) เทคนิค 14/10 โดยหนึ่งวัน 24 ชั่วโมงอดอาหารอย่างสิ้นเชิง 14 ชั่วโมงต่อวันส่วนเวลาที่เหลือสามารถกินได้เป็นปกติ ทำต่อเนื่องลักษณะนี้เป็นเวลา 30-45 วัน (2) เทคนิค 5 ต่อ 2 โดยอดอาหารสิ้นเชิงแบบวิธีแรก 2 วันที่ไม่ติดกันต่อสัปดาห์ ลองพิจารณาทั้งสองวิธีนี้จะพบทันทีว่านี่คือวิธีการอดอาหารแบบอิสลาม (Islamic Fasting) อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยวิธีแรกเป็นรูปแบบการอดอาหารในเดือนรอมฎอน ส่วนวิธีที่สองเป็นการอดอาหารตามแนวทางท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) สองวันต่อสัปดาห์ที่นิยมกันมากคือวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี

คำอธิบายความมหัศจรรย์ของ IF ที่ใช้กันอยู่คือ IF ไม่ใช่การอดอาหารแท้ๆ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเวลากินเท่านั้น ร่างกายยังได้พลังงานและสารอาหารครบถ้วนเช่นเดียวกับวันปกติ เพียงแต่เลื่อนเวลากินให้ห่างออกจากกัน ร่างกายอดอาหารอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจากนั้นจึงกลับไปกินเป็นปกติ การฝึกฝนเช่นนี้มีรายงานวิจัยในสัตว์หลายชนิดพบว่าสามารถยืดอายุขัยในสัตว์ได้ จึงเชื่อกันว่าหากปฏิบัติในคนก็น่าจะได้ผลเช่นเดียวกัน ใครที่ปฏิบัติ IF หากได้รู้จักอิสลามเป็นต้องรู้ทันทีว่า Intermittent Fasting ก็คือ Islamic Fasting นั่นเอง

ไมเคิล แมนนิง (Michael Manning) นักเขียนด้านเทคโนโลยีเขียนบทความไว้ใน Tech Guru Daily เดือนเมษายน 2017 ว่าการอดแบบ IF ช่วยให้เซลล์ประสาทของสมองพัฒนากลไกการทำงานเชื่อมกันระหว่างเซลล์ได้มากขึ้น ทำให้การสร้างเซลล์ประสาทใหม่เกิดได้ดีขึ้น ที่เชื่อกันว่าอายุมากแล้ว เซลล์สมองสร้างใหม่ไม่ได้แล้วจึงไม่เป็นความจริง บทสรุปกลายเป็นว่า IF ซึ่งในที่นี้ขอเปลี่ยนเป็น Islamic Fasting สามารถช่วยพัฒนาเซลล์สมองทั้งช่วยยืดอายุขัย และนี่คือความมหัศจรรย์ของการอดอาหารแบบอิสลามที่พวกเราควรรับรู้ไว้

ชาวตะวันตกเน้นการอดอาหารแบบอิสลามหรือแบบ IF ไปที่การกินอาหารโดยเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องของวงจรการกินการอดเพียงอย่างเดียว ทว่าหลังจาก ค.ศ.2018 เป็นต้นมา นักโภชนาการตะวันตกเริ่มเข้าใจใหม่ว่าการอดอาหารแบบอิสลามได้ประโยชน์จากการปรับวงจรการนอนด้วยไม่ใช่แค่เรื่องกินอย่างเดียว ในเดือนรอมฎอนมุสลิมปรับเปลี่ยนวงจรการนอนโดยการตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อทำการละหมาดตะฮัจญุดประมาณ 11 รอกะอัต จากนั้นจึงรับประทานอาหารสะฮูรก่อนเช้า นี่คือการปรับวงจรการนอน อีกทั้งยังมีการปรับวงจรการออกกำลังกายจากการละหมาดโดยละหมาดยาวนานขึ้นและมากขึ้นในเวลาค่ำคืน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสมาธิ การท่องและอ่านคัมภีร์ การอดอาหารในเดือนรอมฎอนจึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนวงจรการกิน การนอน การออกกำลังกายและการฝึกจิต ประโยชน์ต่อสุขภาพมีมากกว่าการอดอาหารแบบ IF ของชาวตะวันตกอย่างแน่นอน