ขอทำความเข้าใจเรื่องการออกกำลังกายกันก่อน การออกกำลังกายมีหลายแบบ วิ่ง เดินเร็ว วิ่งเหยาะ เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เน้นการทำงานของหัวใจและปอด อีกแบบหนึ่งคือออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance training) เช่น วิดพื้น ซิทอัพ ยืนขึ้นลง ยกเวต ดึงอุปกรณ์ โหนราว นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำหนัก (Strength Training) อย่าง ยกน้ำหนัก โดยเน้นความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่กล่าวถึงการออกกำลังกายเนื่องจากผู้คนลดกิจกรรมการออกกำลังกายไปมาก เรื่องสุขภาพเน้นไปที่โภชนาการมากกว่า โดยกลุ่มหนึ่งนิยมปฏิบัติตนเป็นมังสะวิรัติ (vegetarian) โดยเห็นว่าช่วยเสริมสุขภาพเหมือนกัน บางคนปฏิบัติมังสะวิรัติบางส่วน งดกินเนื้อ แต่ยังกินนม และหรือกินไข่ บางคนงดเนื้อนมไข่ เป็นมังสะวิรัติแบบเคร่ง (vegan) ข้อดีนั้นมีแน่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย โดยอาจขาดวิตามิน เกลือแร่ บางตัว มีรายงานว่าคนถือมังสะวิรัติแบบเคร่งควรระวังเรื่องความแข็งแรงของกระดูก มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกโปร่งบางค่อนข้างสูงทีมวิจัยจาก Medical University of Vienna ประเทศออสเตรีย ทำการศึกษาคนที่ปฏิบัติตนเป็นมังสะวิรัติหรือบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based diet) ไม่บริโภคเนื้อสัตว์จำนวน 43 คน เปรียบเทียบกับคนที่ประพฤติตนด้านโภชนาการแบบปกติ 45 คน ติดตามศึกษานาน 5 ปี สรุปและเขียนรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ของสมาคม the Endocrine Society เดือนสิงหาคม 2022 สิ่งที่พบคือคนที่ถือมังสะวิรัติโดยไม่ออกกำลังกายมีปัญหาเรื่องความแข็งแรงของกระดูก ส่วนคนที่ถือมังสะวิรัติโดยออกกำลังกายแบบแรงต้านหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์มีความแข็งแรงของกระดูกเทียบเท่าคนปกติคำแนะนำของทีมวิจัยคือคนที่ถือมังสะวิรัติหรืออาหารจากพืชทั้งหมด ควรออกกำลังกายแบบแรงต้านเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก หาไม่แล้วอาจเกิดภาวะกระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุนกระทั่งเกิดภาวะกระดูกหักหรือกระดูกสะโพกหักได้ง่ายยามสูงอายุ ออกกำลังกายไม่ต้องมาก เพียงสัปดาห์ละครั้งให้นานพอก็เพียงพอ สรุปกันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ออกกำลังกายแบบแรงต้าน, #มังสะวิรัติ