ตัดแต่งพันธุกรรมทารก

เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมรวมทั้งเรื่องศัลยกรรมยีน (Gene surgery) กลายเป็นความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชนิดที่ก้าวเข้ามาเร็วมาก เรื่องนี้อยากให้พวกเรารู้ไว้หาไม่แล้วอาจตามเทคโนโลยีใหม่ๆไม่ทัน รู้ๆกันอยู่ว่ายีนมนุษย์ทุกกลุ่มเชื้อชาติมีความเหมือนกันอยู่มากถึงร้อยละ 99.9 แตกต่างกันระหว่างคนเชื้อสายหนึ่งกับอีกเชื้อสายหนึ่งอยู่นิดหน่อยเท่านั้น ยิ่งคนแต่ละคนด้วยแล้วความแตกต่างเหลืออยู่เพียงนิดเดียว ความแตกต่างเล็กน้อยนี่เองที่นำไปสู่การแยกแยะตัวบุคคลและสายพันธุ์ เทคโนโลยีใหม่ๆสามารถตรวจสอบความแตกต่างที่ว่านี้ได้รวดเร็ว ทั้งยังสามารถแก้ไขความแตกต่างที่ว่านี้ได้ด้วย หากมีความไม่ปกติ

จุดเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยียีนเกิดขึ้นช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 นี้เองเมื่อนักวิทยาศาสตร์นำโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการตัดแต่งยีนและดีเอ็นเอ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “คริสเปอร์” หรือ CRISPR ย่อมาจาก clustered regularly interspaced short palindromic repeats หมายถึงการอ่านรหัสซ้ำไปมาของเบสที่อยู่ระหว่างช่องว่างของยีนสองกลุ่ม โดยใช้กลไกการทำงานของแบคทีเรีย มีการใช้โปรตีน CAS9 ทำหน้าที่ตัดยีนตรงจุดที่ต้องการ เรียกเทคนิคนี้ว่า CRISPR/CAS9 หรือ “คริสเปอร์คาสไนน์”

เทคโนโลยีคริสเปอร์คาสไนน์นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์จะนำไปใช้ในการตัดแต่งพันธุกรรมทารก ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนเมษายน 2015 นักวิทยาศาสตร์จีนจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซน มณฑลกวางสู นำเอาเอ็มบริโอหรือเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ไปทำการตัดแต่งยีนโดยตัดเอายีน HBB ซึ่งเป็นตัวที่ก่อปัญหาโรคเบต้าธาลัสซีเมียหรือโรคโลหิตจางจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงออก แล้วทดแทนด้วยยีนตัวเดียวกันที่เป็นปกติ จากนั้นจึงนำไปเพาะเลี้ยงทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ตัวอ่อนกระทั่งสร้างทารกที่เป็นปกติขึ้นทั้งๆที่แต่เดิมทารกที่กำลังจะเกิดมามีปัญหาของโรคธาลัสซีเมียแท้ๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาความไม่ปกติของยีนสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดยีนหรือทำการคริสเปอร์คาสไนน์ยีนธาลัสซีเมีย ความก้าวหน้าเช่นนี้เองทำเอาวงการแพทย์ทั่วโลกตื่นเต้นกันมาก

ในรายงานจากประเทศจีนไม่ปรากฏว่าเซลล์ตัวอ่อนนั้นได้รับการพัฒนากระทั่งกลายเป็นทารกหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้วงการนักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเป็นห่วงเนื่องจากหากมีทารกที่ได้รับการตัดแต่งยีนถือกำเนิดขึ้นแล้ว พันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงจะถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ช่วงแรกๆอาจไม่เจอปัญหา แต่หลังจากวันเวลาผ่านไปสักรอบสองรอบนักวิทยาศาสตร์อาจจะพบปัญหาที่ไม่คาดคิดก็ได้ เรื่องน่าห่วงอย่างนี้หากปล่อยไว้ให้เกิดขึ้นโดยไม่ป้องกันเลยจะกลายเป็นปัญหาหนัก ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้กลไกการทำงานของยีนให้เข้าใจชนิดทะลุปรุโปร่งเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มงานการตัดแต่งยีนทารกก็ได้ไม่น่าจะมีปัญหา #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ตัดแต่งพันธุกรรมทารก#crispr/cas9

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *